เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [2. อุโปสถขันธกะ] 85. ปุพพกรณานุชานนา
เรื่องนึกไม่ได้
สมัยต่อมา พระเถระรูปหนึ่ง เวลาเช้าตรู่ ก็นึกไม่ได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกแม้ในเวลาภัตกาล”
แม้ในเวลาภัตกาล พระเถระก็นึกไม่ได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกในเวลาที่นึกขึ้นได้”

85. ปุพพกรณานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตบุพพกรณ์

เรื่องบุพพกรณ์และบุพพกิจในโรงอุโบสถ1
[159] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในโรงอุโบสถ พวกภิกษุอาคันตุกะพากัน
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ทำไมภิกษุทั้งหลายจึงไม่กวาดโรงอุโบสถกันเล่า”

เชิงอรรถ :
1 บุพพกรณ์ หมายถึงการเตรียมการก่อนที่จะมีการประชุมสงฆ์
บุพพกรณ์ของการทำอุโบสถ คือ
1. กวาดโรงอุโบสถ 2. จุดประทีปเตรียมแสงสว่าง
3. จัดเตรียมน้ำฉันน้ำใช้ไว้ 4. ปูอาสนะ
บุพพกิจ หมายถึง กิจเบื้องต้น
บุพพกิจของการทำอุโบสถ คือ
1. นำฉันทะและปาริสุทธิของภิกษุผู้เป็นไข้ คือ ถ้ามีภิกษุผู้เป็นไข้อยู่ในสีมาเดียวกัน ต้องนำความ
ยินยอมและคำปฏิญญาว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์จากอาบัติของภิกษุผู้เป็นไข้นั้นมาแจ้งให้สงฆ์ทราบ
2. บอกฤดู
3. บอกจำนวนภิกษุที่เข้าร่วมประชุม
4. แจ้งการให้โอวาทภิกษุณี (วิ.อ. 3/168/139, กงฺขา.อ. 118-122)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :241 }