เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [2. อุโปสถขันธกะ] 71. สีมานุชานนา
กรรมวาจาสมมติสีมา
[139] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตได้ระบุไว้โดยรอบเพียงใด
ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงสมมติสมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกัน1 ด้วยนิมิต
เหล่านั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตได้ระบุไว้โดยรอบเพียงใด สงฆ์สมมติ
สมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น ท่านรูปใดเห็นด้วยกับ
การสมมติสมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น ท่านรูปนั้น
พึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์สมมติแล้ว ด้วยนิมิตเหล่านั้น
สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องสมมติสีมาใหญ่เกินขนาด
[140] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์คิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการ
สมมติสีมาแล้ว” จึงสมมติสีมาใหญ่เกินไป 4 โยชน์บ้าง 5 โยชน์บ้าง 6 โยชน์บ้าง
ภิกษุทั้งหลายมาทำอุโบสถ มาถึงเมื่อกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงก็มี มาถึงเมื่อ
ยกขึ้นแสดงจบแล้วก็มี รอนแรมอยู่ระหว่างทางก็มี
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมติสีมาใหญ่เกินไป 4 โยชน์
บ้าง 5 โยชน์บ้าง 6 โยชน์บ้าง รูปใดสมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้สมมติสีมาประมาณ 3 โยชน์เป็นอย่างยิ่ง”

เรื่องสมมตินทีปารสีมา (สีมาคร่อมแม่น้ำ)
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สมมตินทีปารสีมา ภิกษุทั้งหลายมาทำอุโบสถ
ถูกน้ำพัดไปก็มี บาตรถูกน้ำพัดไปก็มี จีวรถูกน้ำพัดไปก็มี
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
1 สมานสังวาส หมายถึงเขตแดนที่สงฆ์สมมติเพื่อเข้าร่วมอุโบสถปวารณาและสังฆกรรมอื่นด้วยกัน (ดู วิ.อ.
1/55/278, กงฺขา.ฏีกา 152,155)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :216 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [2. อุโปสถขันธกะ] 72. อุโปสถาคารกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมตินทีปารสีมา รูปใด
สมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมตินทีปารสีมาที่มีเรือจอด
ประจำหรือมีสะพานถาวร”

72. อุโปสถาคารกถา
ว่าด้วยโรงอุโบสถ

เรื่องยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงตามบริเวณวิหาร
[141] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงตามบริเวณวิหารโดยไม่
กำหนดที่ พระอาคันตุกะทั้งหลายไม่รู้ว่า “วันนี้สงฆ์จะทำอุโบสถ ณ ที่ไหน”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงตาม
บริเวณวิหารโดยไม่กำหนดที่ รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้สมมติวิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น หรือถ้ำ ที่สงฆ์
ต้องการให้เป็นโรงอุโบสถแล้วจึงทำอุโบสถ”
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงสมมติโรงอุโบสถอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า

วิธีสมมติโรงอุโบสถและกรรมวาจาสมมติโรงอุโบสถ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์สมมติวิหารมีชื่อนี้
ให้เป็นโรงอุโบสถ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นโรงอุโบสถ
ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการสมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นโรงอุโบสถ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :217 }