เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 66. อาปัตติอทัสสนอุกขิตตวัตถุ
3. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงจงใจพรากสัตว์เสียจากชีวิตโดยที่สุดกระทั่งมด
ดำ มดแดง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตโดยที่สุดกระทั่งยังครรภ์ให้ตกไป
ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุจงใจพรากกายมนุษย์เสียจาก
ชีวิต ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนแผ่นศิลาหนา
แตกออกเป็น 2 เสี่ยง จะประสานให้สนิทเป็นแผ่นเดียวกันอีกไม่ได้ การจงใจพราก
กายมนุษย์เสียจากชีวิตนั้น อันเธอไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
4. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมโดยที่สุดพูดว่า
ข้าพเจ้ายินดีในเรือนว่าง ภิกษุใดมีความปรารถนาชั่ว ถูกความอยากครอบงำ
กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีอยู่ ไม่เป็นจริง คือ ฌานก็ดี วิโมกข์ก็ดี สมาธิก็ดี
สมาบัติก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุ
มีความปรารถนาชั่ว ถูกความอยากครอบงำ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีอยู่
ไม่เป็นจริง ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนต้นตาล
ยอดด้วนที่ไม่อาจงอกได้ต่อไป การกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมนั้น อันเธอไม่พึง
กระทำจนตลอดชีวิต”
จัตตาริอกรณียะ จบ

66. อาปัตติอทัสสนอุกขิตตวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ
[130] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ
ได้สึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวิธีปฏิบัติดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ก็ ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ
ได้สึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก พึงถามเขาว่า ‘เจ้าเห็นอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :199 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 66. อาปัตติอทัสสนอุกขิตตวัตถุ
นั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมเห็น ขอรับ’ พึงให้บรรพชา ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผม
ไม่เห็น ขอรับ’ ไม่พึงให้บรรพชา ครั้นให้บรรพชาแล้วพึงถามว่า ‘เจ้าเห็นอาบัตินั้น
หรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมเห็น ขอรับ’ พึงให้อุปสมบท ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมไม่
เห็นขอรับ’ ไม่พึงให้อุปสมบท ครั้นให้อุปสมบทแล้วพึงถามว่า ‘ท่านเห็นอาบัตินั้น
หรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมเห็น ขอรับ’ พึงเรียกเข้าหมู่ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมไม่
เห็นขอรับ’ ไม่พึงเรียกเข้าหมู่ ครั้นเรียกเข้าหมู่แล้วพึงถามว่า ‘ท่านเห็นอาบัตินั้นหรือ’
ถ้าเขาเห็นเอง นั่นเป็นการดี ถ้าไม่เห็น เมื่อได้สามัคคี พึงลงอุกเขปนียกรรมอีก
เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่ต้องอาบัติเพราะกินร่วมและอยู่ร่วม

เรื่องภิกษุถูกลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืน
อาบัติ ได้สึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก พึงถามเขาว่า
‘เจ้าจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักทำคืน ขอรับ’ พึงให้บรรพชา
ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักไม่ทำคืน ขอรับ’ ไม่พึงให้บรรพชา ครั้นให้บรรพชาแล้ว
พึงถามว่า ‘เจ้าจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักทำคืน ขอรับ’
พึงให้อุปสมบท ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจะไม่กระทำคืน’ ไม่พึงให้อุปสมบท ครั้นให้
อุปสมบทแล้วพึงถามว่า ‘ท่านจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผม
จักทำคืน ขอรับ’ พึงเรียกเข้าหมู่ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจะไม่กระทำคืน’ ไม่พึง
เรียกเข้าหมู่ ครั้นเรียกเข้าหมู่แล้วพึงกล่าวว่า ‘จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย’ ถ้าเขา
ทำคืน นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ทำคืน เมื่อได้สามัคคี พึงลงอุกเขปนียกรรมอีก
เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่ต้องอาบัติเพราะกินร่วมและอยู่ร่วม

เรื่องภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละ
ทิฏฐิบาปสึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก พึงถามเขาว่า ‘เจ้าจัก
สละทิฏฐิบาปนั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักสละ ขอรับ’ พึงให้บรรพชา ถ้าเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :200 }