เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 43. ทัณฑกัมมวัตถุ
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า “จะพึงลงทัณฑกรรมอย่างไรหนอ”
จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมคือการห้าม”

เรื่องวิธีลงทัณฑกรรม
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ลงทัณฑกรรมคือห้ามสามเณรเข้าสังฆารามทุกแห่ง
พวกสามเณรเข้าอารามไม่ได้ จึงหลีกไปบ้าง สึกเสียบ้าง ไปเข้ารีตเดียรถีย์บ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงลงทัณฑกรรมคือห้ามสังฆาราม
ทุกแห่ง รูปใดลง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรม คือ
ห้ามเฉพาะที่อยู่ของตนหรือที่ที่ตนจะเข้าไป”

เรื่องห้ามฉันทางปาก
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ลงทัณฑกรรม คือห้ามฉันอาหารทางปาก1 มนุษย์
ทั้งหลายต้มน้ำยาคูบ้าง ทำสังฆภัตบ้าง นิมนต์พวกสามเณรว่า “จงมาดื่มยาคูเถิด
ขอรับ จงมาฉันภัตตาหารเถิด ขอรับ”
พวกสามเณรกล่าวว่า “พวกอาตมาทำอย่างนั้นไม่ได้ดอกโยม เพราะภิกษุ
ทั้งหลายได้ลงทัณฑกรรมห้ามไว้”
มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลาย
จึงได้ลงทัณฑกรรรม ห้ามฉันอาหารทางปากเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงลงทัณฑกรรมห้ามฉันอาหาร
ทางปาก รูปใดลง ต้องอาบัติทุกกฏ”
ทัณฑกัมมวัตถุ จบ.

เชิงอรรถ :
1 ห้ามฉันอาหารทางปาก หมายถึงห้ามอย่างนี้ว่า “วันนี้ เธออย่าเคี้ยว อย่าฉัน” (วิ.อ. 3/107/78)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :170 }