เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 42. สิกขาปทกถา
ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาดมีสามเณรหลายรูปไว้อุปัฏฐาก
สมัยนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระสารีบุตรส่งเด็กชายไปยังสำนักของท่าน
ด้วยมอบหมายว่า “ขอพระเถระโปรดให้เด็กคนนี้บรรพชา”
ขณะนั้น ท่านพิจารณาเห็นว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุรูปเดียว
ไม่พึงใช้สามเณร 2 รูปให้อุปัฏฐาก ก็เรามีสามเณรราหุลนี้อยู่แล้ว จะพึงปฏิบัติ
อย่างไรหนอ” จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ
รูปเดียวซึ่งเป็นผู้ฉลาดสามารถ ใช้สามเณร 2 รูปให้อุปัฏฐากได้ หรืออนุญาตให้ใช้
สามเณรเท่าที่สามารถจะตักเตือนพร่ำสอนให้อุปัฏฐากได้”

42. สิกขาปทกถา
ว่าด้วยสิกขาบทของสามเณร
[106] ครั้งนั้น สามเณรทั้งหลายได้มีความคิดคำนึงว่า “สิกขาบทของพวกเรา
มีเท่าไรหนอ และเราจะต้องศึกษาในสิกขาบทไหน”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท 10 แก่สามเณร
และให้สามเณรศึกษาในสิกขาบท 10 นั้น คือ
1. เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
3. เจตนางดเว้นจากพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์
4. เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ
5. เจตนางดเว้นจากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
6. เจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :168 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 43. ทัณฑกัมมวัตถุ
7. เจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรีและดูการละเล่น
อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์
8. เจตนางดเว้นจากการทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ซึ่งใช้
เป็นเครื่องประดับตกแต่ง
9. เจตนางดเว้นจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่
10. เจตนางดเว้นจากการรับทองและเงิน
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท 10 เหล่านี้แก่สามเณร และให้สามเณร
ศึกษาในสิกขาบท 10 เหล่านี้”

43. ทัณฑกัมมวัตถุ
ว่าด้วยการลงทัณฑกรรมสามเณร
[107] สมัยนั้น สามเณรทั้งหลายไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความ
ประพฤติไม่เข้ากันกับภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกสามเณรจึงได้
ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความประพฤติไม่เข้ากันกับภิกษุทั้งหลายเล่า”
จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมแก่
สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ 5 คือ
1. พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่ภิกษุทั้งหลาย
2. พยายามเพื่อความพินาศแก่ภิกษุทั้งหลาย
3. พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แก่ภิกษุทั้งหลาย
4. ด่า บริภาษภิกษุทั้งหลาย
5. ยุยงภิกษุกับภิกษุให้แตกกัน
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมแก่สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ 5
เหล่านี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :169 }