เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 41. ราหุลวัตถุ
องค์ 6 แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 6 พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย คือ
1. รู้จักอาบัติ
2. รู้จักอนาบัติ
3. รู้จักอาบัติเบา
4. รู้จักอาบัติหนัก
5. จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารได้ดี จำแนกได้ดี คล่องแคล่วดี
วินิจฉัยโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะได้ดี
6. มีพรรษาครบ 5 หรือมีพรรษาเกิน 5
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 6 เหล่านี้แล พึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัย (8)
นิสสัยมุจจนกกถา จบ
อภยูวรภาณวารที่ 8 จบ

41. ราหุลวัตถุ
ว่าด้วยพระราหุลกุมารบรรพชา

พระราหุลกุมารทรงผนวชเป็นสามเณร
[105] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระอัธยาศัย
แล้วได้เสด็จจาริกไปทางกรุงกบิลพัสดุ์ เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงกบิลพัสดุ์
ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้น
เวลาเช้า ทรงอันตรวาสกแล้วถือบาตรและจีวรเสด็จไปยังพระนิเวศน์พระเจ้าสุทโธทน
ศากยะ ประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์ที่ได้ปูลาดไว้
ขณะนั้น พระเทวีมารดาพระราหุลกุมารได้ทรงมีพระเสาวนีย์ว่า “แน่ะราหุล
สมณะนั้นเป็นบิดาของเจ้า เจ้าจงไปทูลขอทรัพย์มรดกเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :164 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 41. ราหุลวัตถุ
พระราหุลกุมารจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ประทับยืน ณ เบื้องพระพักตร์
พลางกราบทูลว่า “ข้าแต่พระสมณะ พระฉายาของพระองค์เป็นสุข”
พระผู้มีพระภาคได้เสด็จลุกจากอาสนะแล้วเสด็จกลับไป พระกุมารก็เสด็จ
ติดตามไปเบื้องพระปฤษฎางค์ พลางกราบทูลขอว่า “พระสมณะได้โปรดประทาน
ทรัพย์มรดกแก่หม่อมฉัน พระสมณะได้โปรดประทานทรัพย์มรดกแก่หม่อมฉัน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมารับสั่งว่า “สารีบุตร
ถ้าอย่างนั้นเธอจงให้ราหุลกุมารบรรพชาเถิด”
ท่านพระสารีบุตรทูลถามว่า “ข้าพระองค์จะให้ราหุลกุมารบรรพชาอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบรรพชาเป็นสามเณร
ด้วยไตรสรณคมน์”1

วิธีให้บรรพชา
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงให้กุลบุตรบรรพชา อย่างนี้
ในเบื้องต้น พึงให้กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาปลงผมและหนวด ให้ครองผ้ากาสายะ
ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย ให้นั่งกระโหย่ง ให้ประนม
มือแล้วสั่งว่า “เธอจงกล่าวอย่างนี้” แล้วให้ว่าสรณคมน์ ดังนี้

เชิงอรรถ :
1 เดิมที พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการบรรพชาและอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ ต่อมาทรงห้ามอุปสมบทด้วย
ไตรสรณคมน์ ทรงอนุญาตวิธีอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม แต่ไม่ได้ทรงห้ามการบรรพชา ทั้งไม่ได้ทรง
อนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ใช้วิธีนี้ต่อไปอีก แต่มีพระประสงค์ที่จะอนุญาตให้บรรพชาสามเณรด้วยไตรสรณคมน์
พระสารีบุตรทราบพุทธอัธยาศัย จึงกราบทูลให้ทรงอนุญาตการบรรพชาอีก และใช้วิธีการบรรพชาด้วย
ไตรสรณคมน์ บวชราหุลกุมารเป็นสามเณรรูปแรก (วิ.อ. 3/105/74)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :165 }