เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 6.ปัญจวัคคิยกถา
ครั้นทรงเห็นแล้ว ได้ตรัสคาถาตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า
สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธามาเถิด
เราได้เปิดประตูอมตธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว
ท่านพรหม เพราะเราสำคัญว่าจะลำบาก
จึงมิได้แสดงธรรมที่ประณีตคล่องแคล่ว ในหมู่มนุษย์
ขณะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบว่า “พระพุทธองค์ได้ทรงประทานโอกาส
เพื่อจะแสดงธรรมแล้ว” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว
อันตรธานไป ณ ที่นั้นแล

พรหมยาจนกถา จบ

6. ปัญจวัคคิยกถา
ว่าด้วยภิกษุปัญจวัคคีย์

เรื่องอาฬารดาบสกาลามโคตร
[10] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อน
หนอ ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน” แล้วทรงดำริต่อไปว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร
นี้ เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในตาน้อยมานาน ถ้ากระไร เราจะพึง
แสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ ฉับพลัน”

ลำดับนั้น เทวดาผู้ไม่ปรากฏกายมาทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระองค์ผู้เจริญ
อาฬารดาบส กาลามโคตร ได้ทำกาละ 7 วันแล้ว”

แม้พระผู้มีพระภาคก็ได้เกิดญาณขึ้นว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร ได้ทำ
กาละ 7 วันแล้ว” จึงทรงดำริว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อม
นานหนอ1 เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน”

เชิงอรรถ :
1 มีความเสื่อมนานหนอ หมายถึงมีความเสื่อมมาก เพราะเสื่อมจากมรรคและผลที่จะพึงบรรลุ เพราะ
เกิดในอักขณะ คือ อาฬารดาบสตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ส่วนอุททกดาบสตายไปเกิดใน
เนวสัญญานาสัญญายตนภาพ (วิ.อ. 3/10/16)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :15 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 6.ปัญจวัคคิยกถา
เรื่องอุททกดาบสรามบุตร
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน” จึงทรงดำริต่อไปว่า “อุททกดาบส รามบุตรนี้
เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในตาน้อยมานาน ถ้ากระไร เราจะพึง
แสดงธรรมแก่อุททกดาบส รามบุตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน”
ลำดับนั้น เทวดาผู้ไม่ปรากฏกายมาทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระองค์ผู้เจริญ
อุททกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้”
แม้พระผู้มีพระภาคก็ได้เกิดญาณขึ้นว่า “อุททกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละ
เมื่อวานนี้” จึงทรงดำริว่า “อุททกดาบส รามบุตร เป็นผู้มีความเสื่อมนานหนอ
เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน”
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน” จึงทรงดำริว่า “ภิกษุปัญจวัคคีย์ มีอุปการะแก่เรามาก
ที่ได้เฝ้าปรนนิบัติเราผู้มุ่งหน้าบำเพ็ญเพียรมา ถ้ากระไร เราจะพึงแสดงธรรมแก่
ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน” แล้วทรงดำริต่อไปว่า “บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ”
ก็ได้ทรงเห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ด้วย
ทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์
ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาตามพระอัธยาศัยแล้ว
ได้เสด็จจาริกไปทางกรุงพาราณสี

เรื่องอุปกาชีวก
[11] อาชีวกชื่ออุปกะได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกล ณ ระหว่าง
แม่น้ำคยากับต้นโพธิพฤกษ์ ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “อาวุโส อินทรีย์ของ
ท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็น
ศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :16 }