เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 25. อัญญติตถิยปุพพกถา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ หวัง
อุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส 4 เดือนต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว
พึงให้ปริวาส 4 เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้ซึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เคยเป็นอัญเดียรถีร์ หวังอุปสมบท
ในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส 4 เดือนต่อสงฆ์ สงฆ์ให้ปริวาส 4 เดือนแก่ผู้มีชื่อ
นี้ซึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ปริวาส 4 เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้
ซึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ปริวาส 4 เดือน สงฆ์ให้แล้วแก่ผู้มีชื่อนี้ซึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
[87] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี
อย่างนี้ เป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้

ข้อปฏิบัติที่มิให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
อย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เข้าหมู่บ้านเช้าเกินไป
กลับสายเกินไป1 แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้มีหญิง
แพศยาเป็นโคจร2 มีหญิงม่ายเป็นโคจร มีสาวเทื้อเป็นโคจร มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร
หรือมีภิกษุณีเป็นโคจร แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี

เชิงอรรถ :
1 เข้าหมู่บ้านเช้าเกินไป หมายถึงเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน ในเวลาที่ภิกษุทั้งหลายทำวัตร
กลับสายเกินไป หมายถึงมัวแต่คุยเรื่องของชาวบ้านกับสตรี บุรุษ เด็กชาย และเด็กหญิงเป็นต้นในตระกูล
ทั้งหลาย ฉันในตระกูลเหล่านั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรและจีวรแล้วเรียนบาลีและอรรถกถาอยู่ หรือ
หลีกเร้นอยู่ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ผู้นั้นจึงกลับมาไม่ทำอุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร เข้าไปที่พักแล้ว
นอน (วิ.อ. 3/87/51)
2 มีหญิงแพศยาเป็นโคจร หมายถึงไปมาหาสู่หญิงแพศยาด้วยปรารถนาความเป็นมิตร มีความคุ้นเคยกับ
หญิงแพศยา (วิ.อ. 3/87/51, สารตฺถ.ฏีกา 3/87/293)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :139 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 25. อัญญติตถิยปุพพกถา
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้ไม่ขยัน
เกียจคร้านในการงานใหญ่น้อยของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ไม่ประกอบด้วยปัญญา
เครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานเหล่านั้น ไม่อาจทำ ไม่อาจจัด แม้เช่นนี้
ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้ไม่มีฉันทะ
แรงกล้าในอุทเทส ในปริปุจฉา1 ในอธิสีล อธิจิต อธิปัญญา แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็น
ผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ออกจากลัทธิ
ของครูใด เมื่อมีผู้กล่าวติเตียนครูนั้น กล่าวติเตียนความเห็นของครูนั้น ความ
ชอบใจของครูนั้น ความพอใจของครูนั้น ความยึดถือของครูนั้น ก็โกรธ ไม่พอใจ
ไม่ชอบใจ เมื่อมีผู้กล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับพอใจ
ร่าเริง ชอบใจ ก็หรือออกจากลัทธิของครูใด เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญครูนั้น กล่าว
สรรเสริญความเห็นของครูนั้น ความชอบใจของครูนั้น ความพอใจของครูนั้น
ความยึดถือของครูนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ เมื่อกล่าวสรรเสริญพระพุทธ
พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวน
ในข้อปฏิบัติที่ไม่ชวนให้สงฆ์ยินดีของกุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์
ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
อย่างนี้ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้มาแล้ว ไม่พึงให้
อุปสมบท

ข้อปฏิบัติที่ให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดีอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์นี้ เข้าหมู่บ้านไม่เช้านัก
กลับไม่สายนัก แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี

เชิงอรรถ :
1 อุทเทส หมายถึงการเรียนบาลี
ปริปุจฉา หมายถึงอรรถกถา (วิ.อ. 3/87/53)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :140 }