เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 5.พรหมยาจนกถา
เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อการขวนขวายน้อย มิได้
น้อมไปเพื่อแสดงธรรม
[8] ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค
ด้วยใจของตน ได้มีความดำริว่า “ท่านผู้เจริญเอ๋ย โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะ
พินาศหนอ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปเพื่อ
การขวนขวายน้อย มิได้น้อมพระทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรม” จึงหายไปจากพรหม
โลกมาปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เปรียบประหนึ่งบุรุษมีกำลัง
เหยียดแขนออก หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น แล้วห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
คุกเข่าเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับพลางทูล
ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตเจ้าได้
โปรดแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในตาน้อยมีอยู่1 สัตว์เหล่านั้นย่อม
เสื่อมเพราะไม่ได้สดับธรรม เพราะจักมีผู้รู้ธรรม2”
ท้าวสหัมบดีพรหมได้ทูลอาราธนาดังนี้ แล้วได้ทูลเป็นประพันธคาถาต่อไปว่า

พรหมนิคมคาถา
ในกาลก่อน ธรรมที่ไม่บริสุทธิ์อันคนที่มีมลทิน3คิดค้นไว้
ปรากฏในแคว้นมคธ
พระองค์ โปรดทรงเปิดประตูอมตธรรมนั้นเถิด
ขอเหล่าสัตว์ จงฟังธรรมที่พระสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากมลทิน
ได้ตรัสรู้แล้วตามลำดับ

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงมีธุลีคือราคะ โทสะ โมหะ ปิดบังดวงตาปัญญาเบาบาง (วิ.อ. 78-9/14-15)
2 เหตุการณ์นี้เป็นที่มาแห่งพิธีอาราธนาพระสงฆ์แสดงธรรม(ดู ขุ.พุทธ. 33/1/435)
3 คนที่มีมลทิน ในที่นี้หมายถึงครูทั้ง 6 (วิ.อ. 3/8/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :12 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 5.พรหมยาจนกถา
ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาดี มีสมันตจักษุ
บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดเขาศิลาล้วน พึงเห็นหมู่ชนได้
โดยรอบ ฉันใด
พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว ก็ฉันนั้น
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรมแล้ว
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความโศกและถูกชาติชรา
ครอบงำได้ชัดเจน
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ผู้ชนะสงคราม ผู้นำหมู่
ผู้ไม่มีหนี้ ขอพระองค์โปรดลุกขึ้นเสด็จจาริกไปในโลก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดจงทรงแสดง
ธรรม เพราะจักมีผู้รู้ธรรม
[เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับ
ท้าวสหัมบดีพรหมว่า พรหม แม้เราเองก็มีความดำริว่า ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้
... จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา พรหม อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่
ไม่เคยสดับมาก่อนได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่เราว่า
บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราได้บรรลุ ด้วยความลำบาก
... แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส ...
พรหม เมื่อเราพิจารณาแจ้งชัดดังนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการขวนขวายน้อย
หาน้อมไปเพื่อแสดงธรรมไม่
แม้ครั้งที่ 2 ท้าวสหัมบดีพรหมก็ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคได้โปรดแสดงธรรม ... เพราะจักมีผู้รู้ธรรม”
แม้ครั้งที่ 2 พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า “พรหม แม้เราเองก็มีความคิด
ว่า... หาน้อมไปเพื่อแสดงธรรมไม่”
แม้ครั้งที่ 3 ท้าวสหัมบดีพรหมก็ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคได้โปรดแสดงธรรม ... เพราะจักมีผู้รู้ธรรม”]

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :13 }