เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 18. อาจริยวัตตกถา
อันเตวาสิกจักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในอาจารย์ฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจารย์และ
อันเตวาสิกจักมีความเคารพยำเกรง ประพฤติกลมเกลียวกัน จักถึงความเจริญ
งอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อาศัยภิกษุ
มีพรรษา 10 อยู่ อนุญาตให้ภิกษุมีพรรษา 10 ให้นิสสัยได้”

วิธีถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกพึงถืออาจารย์อย่างนี้
อันเตวาสิกนั้นพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า นั่งกระโหย่ง
ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้า
จักอาศัยท่านอยู่ ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจักอาศัย
ท่านอยู่ ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่”
อาจารย์ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วยกายและวาจา
ว่า “ดีละ” ว่า “เบาใจละ” ว่า “ชอบแก่อุบายละ” ว่า “สมควรละ” หรือว่า
“จงประพฤติปฏิบัติให้น่าเลื่อมใส” อาจารย์ชื่อว่าเป็นผู้ที่อันเตวาสิกถือแล้ว
อาจารย์ไม่ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกาย
และวาจา อาจารย์เป็นผู้ที่อันเตวาสิกยังมิได้ถือ

อาจริยวัตร
[78] ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกพึงประพฤติชอบในอาจารย์ วิธีประพฤติ
ชอบในอาจารย์นั้นมีดังนี้
อันเตวาสิกพึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า ปูอาสนะ
ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่ออาจารย์ฉันข้าวต้ม
เสร็จแล้ว พึงถวายน้ำรับภาชนะมา ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้ว
เก็บงำไว้ เมื่ออาจารย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :107 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 18. อาจริยวัตตกถา
ถ้าอาจารย์ต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวาย
ประคดเอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ
ถ้าอาจารย์หวังจะให้เป็นปัจฉาสมณะ พึงนุ่งให้เรียบร้อยปกปิดได้มณฑล 3
คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน กลัดลูกดุม ล้างบาตรถือไป เป็นปัจฉา
สมณะของอาจารย์ พึงเดินไม่ให้ห่างนัก ไม่ให้ชิดนัก พึงรับบาตรที่มีของบรรจุอยู่
เมื่ออาจารย์กำลังกล่าว ไม่พึงกล่าวสอดขึ้นในระหว่าง อาจารย์กล่าวถ้อยคำ
ใกล้ต่ออาบัติ พึงห้ามเสีย
เมื่ออาจารย์จะกลับ พึงมาก่อนแล้วปูอาสนะไว้ พึงเตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรอง
เท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งอาศัย รับผ้านุ่งมา
ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะ
พับจีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน 4 นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ
พึงม้วนประคดเอวใส่ขนดจีวร
ถ้าบิณฑบาตมี และอาจารย์ต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วน้อมบิณฑบาต
เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่ออาจารย์ฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา
ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้
ที่แดด
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งจับบาตร ใช้มือข้าง
หนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
เมื่ออาจารย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอาจารย์ต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำเย็น
พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :108 }