เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 18. อาจริยวัตตกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงให้อุปสมบทด้วยคณะมีพวก
หย่อน 10 ภิกษุรูปใด ให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
อุปสมบทด้วยคณะมีพวก 10 หรือมีพวกเกิน 10 ได้”

เรื่องอุปัชฌาย์มีพรรษาเดียวให้กุลบุตรบวช
[75] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีพรรษา 1 บ้าง มีพรรษา 2 บ้าง ให้
สัทธิวิหาริกอุปสมบท แม้ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรมีพรรษาเดียว ก็ให้สัทธิวิหาริก
อุปสมบท ท่านออกพรรษาแล้ว มีพรรษา 2 ได้พาสัทธิวิหาริกมีพรรษา 1 เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
อันการที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย
นั่นเป็นพุทธประเพณี ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันต
บุตรว่า “ภิกษุ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ เธอเดินทางมาโดยไม่
ลำบากหรือ”
ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอ
เป็นอยู่ได้ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เดินทางมาโดยไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”

พุทธประเพณี
พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่องตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบ
กาลอันควร ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัสถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัส
ถามเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็น
ประโยชน์เสียด้วยอริยมรรคแล้ว
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย สอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุ 2 ประการ
คือ จะทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่า “เธอมี
พรรษาเท่าไร ภิกษุ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :103 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 18. อาจริยวัตตกถา
ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ 2 พรรษาแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุรูปนี้ มีพรรษาเท่าไร”
“มีพรรษาเดียว พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุรูปนี้ เป็นอะไรกับเธอ”
“เป็นสัทธิวิหาริกของข้าพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงตำหนิ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น
ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย โมฆบุรุษ
เธอยังเป็นผู้ที่ผู้อื่นจะต้องตักเตือนพร่ำสอน ไฉนจึงได้สำคัญตนเพื่อตักเตือนพร่ำสอน
ผู้อื่นเล่า เธอเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับหมู่เร็วยิ่งนัก
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีพรรษาหย่อน 10 ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใดให้
อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุมีพรรษาครบ 10
หรือมีพรรษาเกิน 10 ให้อุปสมบทได้”

เรื่องอุปัชฌาย์โง่เขลา
[76] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดว่า “เรามีพรรษาครบ 10 เรามีพรรษา
ครบ 10” แต่เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ให้อุปสมบท ปรากฏว่า อุปัชฌาย์เป็น
ผู้โง่เขลา สัทธิวิหาริกเป็นบัณฑิตก็มี อุปัชฌาย์เป็นผู้ไม่ฉลาด สัทธิวิหาริกเป็น
ผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นพหูสูตก็มี อุปัชฌาย์มีปัญญาทราม
สัทธิวิหาริกมีปัญญาดีก็มี
แม้ภิกษุรูปหนึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ ถูกอุปัชฌาย์ว่ากล่าวโดยชอบธรรม ก็โต้
เถียงอุปัชฌาย์ไปเข้าลัทธิเดียรถีย์นั้นดังเดิม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :104 }