เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [3. นิสสัคคิยกัณฑ์] 1. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 3 นิทานวัตถุ
1. ปัตตวรรค

สิกขาบทที่ 3
ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนจีวร

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[743] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาแลกเปลี่ยน
จีวรกับภิกษุณีรูปหนึ่งใช้สอย ครั้งนั้น ภิกษุณีนั้นพับจีวรเก็บไว้ ภิกษุณีถุลลนันทา
ได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “จีวรที่เธอแลกเปลี่ยนกับดิฉันอยู่ที่ไหน” ภิกษุณีนั้น
จึงนำจีวรนั้นออกมาให้ภิกษุณีถุลลนันทาดู
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงกล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า จีวรของเธอ จงนำจีวร
ของดิฉันมา จีวรของเธอต้องเป็นของเธอ จีวรของดิฉันต้องเป็นของดิฉัน จงนำจีวร
ของดิฉันมา จงรับเอาจีวรของเธอคืนไปเถิด” แล้วชิงเอาคืน ลำดับนั้น ภิกษุณีนั้น
นำเรื่องไปบอกภิกษุณีทั้งหลาย
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อยสันโดษ ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทาแลกเปลี่ยนจีวรกับภิกษุณีแล้วจึงชิงเอาคืนเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาแลกเปลี่ยน
จีวรกับภิกษุณีแล้วชิงเอาคืนจริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงแลกเปลี่ยนจีวรกับภิกษุณีแล้วชิงเอาคืนเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :86 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [3. นิสสัคคิยกัณฑ์] 1. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 3 สิกขาบทวิภังค์
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[744] ก็ภิกษุณีใดแลกเปลี่ยนจีวรกับภิกษุณี ภายหลังภิกษุณีนั้นกล่าว
อย่างนี้ว่า “แม่เจ้า จีวรของเธอ จงนำจีวรของดิฉันมา จีวรของเธอต้องเป็น
ของเธอ จีวรของดิฉันต้องเป็นของดิฉัน จงนำจีวรของดิฉันมา จงรับเอาจีวร
ของเธอคืนไปเถิด” ชิงเอาคืนหรือใช้ให้ชิงเอาคืน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[745] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า กับภิกษุณี คือ กับภิกษุณีรูปอื่น
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร 6 ชนิด1 อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดพอที่จะทำ
วิกัปได้เป็นอย่างต่ำ
คำว่า แลกเปลี่ยน คือ แลกเปลี่ยนจีวรเนื้อดีกับจีวรเนื้อไม่ดี หรือจีวรเนื้อ
ดีกับจีวรเนื้อไม่ดี
คำว่า ชิงเอาคืน คือ ชิงเอาคืนเอง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
1 จีวร 6 ชนิด คือ โขมะ(จีวรผ้าเปลือกไม้) กัปปาสิกะ(จีวรผ้าฝ้าย) โกเสยยะ(จีวรผ้าไหม) กัมพละ(จีวร
ผ้าขนสัตว์) สาณะ(จีวรผ้าป่าน) ภังคะ(จีวรผ้าผสม) (วิ.อ. 2/462-463/142)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :87 }