เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [3. นิสสัคคิยกัณฑ์] 1. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 2 สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาอธิษฐาน
อกาลจีวรเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกัน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงอธิษฐานอกาลจีวรเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกันเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[739] ก็ภิกษุณีใดอธิษฐานอกาลจีวรเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกัน ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[740] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า อกาลจีวร1 ได้แก่ (1) ผ้าที่เกิดขึ้นตลอด 11 เดือนในเมื่อไม่ได้
กรานกฐิน (2) ผ้าที่เกิดขึ้นตลอด 7 เดือนในเมื่อได้กรานกฐินแล้ว (3) แม้ผ้า
ที่เขาถวายเจาะจงในกาล นี้ชื่อว่า อกาลจีวร

เชิงอรรถ :
1 อกาลจีวร หมายถึงจีวรที่เกิดขึ้นนอกฤดูกาล คือ (1) ในเมื่อไม่ได้กรานกฐิน จีวรที่เกิดขึ้นในระหว่างแรม
1 ค่ำ เดือน 12 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของปีถัดไป (ตามจันทรคติ) รวมเป็น 11 เดือน ชื่อว่า
อกาลจีวร (2) ในเมื่อได้กรานกฐินแล้ว จีวรที่เกิดขึ้นในระหว่างแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ถึงขึ้น 15 ค่ำ
เดือน 11 ในปีเดียวกัน (ตามจันทรคติ) รวมเป็น 7 เดือน ชื่อว่าอกาลจีวร (3) ส่วนจีวรที่เกิดขึ้น
นอกเวลาทั้ง 2 กรณีดังกล่าวนี้ ชื่อว่ากาลจีวร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :83 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [3. นิสสัคคิยกัณฑ์] 1. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 2 สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุณีอธิษฐานอกาลจีวรเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกัน ต้องอาบัติทุกกฏในขณะ
ที่แจกจีวร เป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะ
หรือแก่ภิกษุณีรูปหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า อกาลจีวร
ผืนนี้ดิฉันอธิษฐานเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกัน เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉันขอสละอกาลจีวร
ผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนอกาลจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรม
วาจาว่า “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า อกาลจีวรผืนนี้ของภิกษุณีชื่อนี้เป็นนิสัคคีย์
เธอสละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนอกาลจีวรผืนนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย
ฯลฯ ดิฉันขอสละอกาลจีวรผืนนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
“ฯลฯ พึงคืนอกาลจีวรผืนนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ฯลฯ ดิฉันขอสละอกาลจีวร
ผืนนี้แก่แม่เจ้า” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ฯลฯ “ดิฉันคืนอกาลจีวรผืนนี้ให้แก่แม่เจ้า”1

เชิงอรรถ :
1 ความที่ย่อไว้ทุกสิกขาบทในนิสสัคคิยปาจิตตีย์ พึงเปรียบเทียบในปัตตวรรค สิกขาบทที่ 1 นิสสัคคียกัณฑ์
ข้อ 735 หน้า 79-80 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :84 }