เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 8 สิกขาบทวิภังค์
วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลาย ก็สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีนั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุณีผู้ฉลาด
สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[718] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้ถูกตัดสินให้แพ้คดีใน
อธิกรณ์หนึ่ง โกรธ ไม่พอใจ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ
ฯลฯ และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว” เธอไม่สละเรื่องนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกัน
แล้วพึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้ถูกตัดสินให้แพ้คดีในอธิกรณ์เรื่องหนึ่ง
โกรธ ไม่พอใจ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ ฯลฯ และ
พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว’ เธอไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้
เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้
สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
ดิฉันกล่าวความนี้แม้ครั้งที่ 2 ฯลฯ ดิฉันกล่าวความนี้แม้ครั้งที่ 3 ฯลฯ
ภิกษุณีชื่อนี้สงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้วเพื่อให้สละเรื่องนั้น สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา 2 ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เมื่อเธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส
อาบัติทุกกฏ(ที่ต้อง)เพราะญัตติ อาบัติถุลลัจจัย(ที่ต้อง)เพราะกรรมวาจา 2 ครั้ง
ย่อมระงับไป
คำว่า ภิกษุณีแม้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ยาวตติยกะ คือ ต้องอาบัติเพราะสวดสมนุภาสน์จบ 3 ครั้ง ไม่ใช่
ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุ
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :61 }