เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 1 สิกขาบทวิภังค์
ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้เจริญ ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้มีสาระ ชื่อว่าภิกษุณี
เพราะเป็นผู้ยังต้องศึกษา ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ไม่ต้องศึกษา ชื่อว่าภิกษุณี
เพราะเป็นผู้ที่สงฆ์ 2 ฝ่ายพร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมที่ถูกต้อง
สมควรแก่เหตุ ในภิกษุณีที่กล่าวมานั้น ภิกษุณีที่สงฆ์ 2 ฝ่ายพร้อมเพรียงกัน
อุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมที่ถูกต้องสมควรแก่เหตุนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรง
ประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า กำหนัด ได้แก่ ภิกษุณีมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ผู้กำหนัด ได้แก่ ชายมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ แต่เป็นชายที่รู้เดียงสา สามารถถูกต้องกายได้
คำว่า ใต้รากขวัญลงมา ได้แก่ ภายใต้รากขวัญลงมา
คำว่า เหนือเข่าขึ้นไป ได้แก่ บริเวณเข่าส่วนบนขึ้นไป
ที่ชื่อว่า จับต้อง ได้แก่ กิริยาเพียงแต่ลูบคลำ
ที่ชื่อว่า ลูบคลำ ได้แก่ ลูบคลำไปทางโน้นทางนี้
ที่ชื่อว่า จับ ได้แก่ ลักษณะเพียงแต่จับ
ที่ชื่อว่า ต้อง ได้แก่ ลักษณะเพียงสัมผัส
คำว่า ยินดี ... หรือการบีบ ได้แก่ ยินดีที่จะให้จับอวัยวะแล้วบีบ
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ1
คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุณีกำหนัดยินดีการจับต้อง การลูบคลำ
การจับ การต้อง หรือการบีบของชายผู้กำหนัดบริเวณใต้รากขวัญลงมาเหนือเข่าขึ้น
ไป ย่อมไม่เป็นสมณะหญิง ไม่เป็นเชื้อสายศากยธิดา เปรียบเหมือนคนถูกตัดศีรษะ
ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้โดยการต่อศีรษะเข้ากับร่างกายนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า เป็นปาราชิก

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิก 4 สิกขาบท อันเป็นความผิดเช่นเดียวกับป่ราชิก 4 สิกขาบท
ของภิกษุสงฆ์ (ดู พระวินัยปิฎกแปล 1/39/29,42/31,44/32,89/78-79,91/80,167/139,
171/140-141,196/182,197/183)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :6 }