เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 4 พระบัญญัติ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงเรียกภิกษุณีที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม
โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ให้กลับเข้าหมู่ โดยไม่บอกการกสงฆ์1 ไม่รับรู้ฉันทะของ
คณะเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาเรียกภิกษุณี
ที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ให้กลับ
เข้าหมู่โดยไม่บอกการกสงฆ์ ไม่รับรู้ฉันทะของคณะ จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงเรียกภิกษุณีผู้ที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรม
โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ให้กลับเข้าหมู่โดยไม่บอกการกสงฆ์ ไม่รับรู้
ฉันทะของคณะเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[695] ก็ภิกษุณีใดเรียกภิกษุณีที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรม
โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ให้กลับเข้าหมู่โดยไม่บอกการกสงฆ์ ทั้งไม่
รับรู้ฉันทะของคณะ แม้ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ
นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ

เชิงอรรถ :
1 “การกสงฆ์” คือสงฆ์ผู้ดำเนินการในกิจสำคัญ เช่น การสังคายนาหรือสังฆกรรมต่าง ๆ ในที่นี้หมายถึง
สงฆ์ผู้ร่วมกันทำอุกเขปนียกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :42 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 4 สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[696] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
สงฆ์ที่ชื่อว่า พร้อมเพรียงกัน คือ มีสังวาสเสมอกัน1 อยู่ในสมานสังวาสสีมา2
ที่ชื่อว่า ที่...ลงอุกเขปนียกรรม คือ ถูกสงฆ์ลงโทษเพราะไม่เห็นหรือไม่ทำ
คืนอาบัติ หรือเพราะไม่ยอมสละทิฏฐิบาป
คำว่า โดยธรรม โดยวินัย คือ โดยธรรมใด โดยวินัยใด
คำว่า โดยสัตถุศาสน์ คือ โดยคำสั่งสอนของพระชินเจ้า โดยคำสั่งสอน
ของพระพุทธเจ้า
คำว่า โดยไม่บอก คือ ไม่บอกสงฆ์ผู้กระทำกรรม
คำว่า ไม่รับรู้ฉันทะของคณะ คือ ไม่รู้ความพอใจของคณะ
ภิกษุณีคิดว่า “จะเรียกเข้าหมู่” จึงแสวงหาคณะ หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติ
ทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา 2 ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้อง
สวดสมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส

เชิงอรรถ :
1 “มีสังวาสเสมอกัน” คือมีการทำกรรมร่วมกัน สวดอุทเทส(ปาติโมกข์)ร่วมกัน มีสิกขาเสมอกัน (ดู ข้อ
658 หน้า 7 ในเล่มนี้)
2 “อยู่ในสมานสังวาสสีมา” อยู่ในเขตที่กำหนดไว้เป็นพิเศษสำหรับสงฆ์เพื่อเป็นสถานที่ทำสังฆกรรมร่วมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :43 }