เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 3 อนาปัตติวาร
เมื่อเธอย่างเท้าก้าวที่ 1 เข้าสู่อุปจารของหมู่บ้านที่ไม่มีรั้วล้อม ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย ย่างเท้าก้าวที่ 2 ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า ข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียว ความว่า ที่ชื่อว่าแม่น้ำ คือสถานที่ใดที่หนึ่งซึ่ง
เมื่อภิกษุณีครองผ้าปกปิดมณฑล 3 เดินข้าม อันตรวาสกเปียก เมื่อเธอย่างเท้าก้าว
ที่ 1 ข้ามไปต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าก้าวที่ 2 ข้ามไปต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า ออกไปอยู่พักแรมในราตรีรูปเดียว ความว่า เธอละหัตถบาส(ระยะ
ห่างสองศอกครึ่ง)จากภิกษุณีที่เป็นเพื่อนในขณะที่อรุณขึ้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย พ้น
หัตถบาสแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า หรือปลีกตัวจากคณะอยู่รูปเดียว ความว่า ในป่าซึ่งไม่มีหมู่บ้านอยู่
เมื่อเดินไปกำลังจะพ้นระยะที่จะมองเห็นได้หรือบริเวณที่เพื่อนภิกษุณีจะได้ยินเสียง ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย เมื่อพ้นไปแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้อง
สวดสมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[693] 1. ภิกษุณีที่เพื่อนภิกษุณีจากไป สึก มรณภาพ หรือไปเข้ารีต
2. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
3. ภิกษุณีวิกลจริต
4. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :40 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 4 นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 4
ว่าด้วยการเรียกภิกษุณีที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเข้าหมู่

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[694] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีเป็นผู้ก่อความ
บาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ก่อความอื้อฉาวถกเถียง ก่ออธิกรณ์ใน
สงฆ์ เมื่อสงฆ์จะลงโทษภิกษุณีจัณฑกาลีนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาก็คัดค้าน ต่อมา
ภิกษุณีถุลลนันทาเดินทางไปหมู่บ้านด้วยธุระบางอย่าง ครั้งนั้น ภิกษุณีสงฆ์ทราบว่า
“ภิกษุณีถุลลนันนทาจากไปแล้ว” จึงลงอุกเขปนียกรรมภิกษุณีจัณฑกาลีเพราะไม่
เห็นอาบัติ ครั้นภิกษุณีถุลลนันทาทำธุระในหมู่บ้านเสร็จแล้วกลับมายังกรุงสาวัตถี
เมื่อภิกษุณีถุลลนันทากำลังมาภิกษุณีจัณฑกาลีไม่ปูอาสนะ ไม่ตั้งน้ำล้างเท้า ตั้ง
รองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตรและจีวร ไม่เอาน้ำดื่มต้อนรับ ภิกษุณี
ถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีจัณฑกาลีนั้นดังนี้ว่า “เมื่อฉันกำลังมา ไฉนเธอจึงไม่
ปูอาสนะ ไม่ตั้งน้ำล้างเท้า ตั้งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตรและจีวร
ไม่เอาน้ำดื่มต้อนรับเล่า”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า “แม่เจ้า คนไม่มีที่พึ่งก็ทำอย่างนี้แหละ”
ภิกษุณีถุลลนันทาถามว่า “เพราะเหตุไร เธอจึงไม่มีที่พึ่ง”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า “แม่เจ้า ภิกษุณีเหล่านี้เข้าใจว่า ‘ดิฉันเป็นคนไม่มี
ที่พึ่ง ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครคอยกล่าวปกป้อง’ จึงลงอุกเขปนียกรรมดิฉันเพราะไม่
เห็นอาบัติ”
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวว่า “ภิกษุณีพวกนี้โง่เขลา ภิกษุณีพวกนี้ไม่ฉลาด
ภิกษุณีพวกนี้ไม่รู้จักกรรม โทษของกรรม กรรมวิบัติ หรือกรรมสมบัติ เรานี่แหละ
รู้จักกรรมบ้าง โทษของกรรมบ้าง กรรมวิบัติบ้าง กรรมสมบัติบ้าง เรานี่แหละพึงทำ
กรรมที่ยังไม่มีใครทำหรือรื้อฟื้นกรรมที่ตัดสินไปแล้วได้” จึงสั่งให้ประชุมภิกษุณีสงฆ์
ทันทีแล้วเรียกภิกษุณีจัณฑกาลีกลับเข้าหมู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :41 }