เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [5. ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ 2-8 พระอนุบัญญัติ
พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า “แม่เจ้า
ดิฉันต้องธรรมคือปาฏิเทสนียะ เป็นธรรมที่น่าติเตียน ไม่เป็นสัปปายะ ดิฉันขอ
แสดงคืนธรรมนั้น”
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

เรื่องภิกษุณีเป็นไข้
[1235] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ ภิกษุณีผู้ถามอาการไข้ได้กล่าวกับ
ภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า พวกท่านยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ”
ภิกษุณีผู้เป็นไข้กล่าวว่า “แม่เจ้า เมื่อก่อนพวกดิฉันออกปากขอนมเปรี้ยว
มาฉันได้ เพราะเหตุนั้นพวกดิฉันจึงมีความผาสุก แต่บัดนี้พวกดิฉันยำเกรงอยู่ว่า
‘พระผู้มีพระภาคทรงห้าม” จึงไม่กล้าออกปากขอ เพราะเหตุนั้นจึงไม่มีความผาสุก”
พวกภิกษุได้กราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ฯลฯ

ทรงอนุญาตนมเปรี้ยว
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีเป็นไข้
ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉันได้” แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[1236] อนึ่ง ภิกษุณีใดผู้ไม่เป็นไข้ออกปากขอ (น้ำมัน ฯลฯ น้ำผึ้ง
ฯลฯ น้ำอ้อย ฯลฯ ปลา ฯลฯ เนื้อ ฯลฯ นมสด ฯลฯ) นมเปรี้ยวมาฉัน
ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า “แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมคือปาฏิเทสนียะ เป็นธรรม
ที่น่าติเตียน ไม่เป็นสัปปายะ ดิฉันขอแสดงคืนธรรมนั้น”
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :390 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [5. ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ 2-8 บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[1237] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่เป็นไข้ คือ ผู้ขาดนมเปรี้ยวก็ยังมีความผาสุก
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ขาดนมเปรี้ยวย่อมไม่มีความผาสุก
ที่ชื่อว่า น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดงา น้ำมันจากเมล็ดผักกาด
น้ำมันจากผลมะซาง น้ำมันจากเมล็ดละหุ่ง น้ำมันจากเปลวสัตว์
ที่ชื่อว่า น้ำผึ้ง ได้แก่ น้ำรสหวานที่ผึ้งทำ
ที่ชื่อว่า น้ำอ้อย ได้แก่ น้ำรสหวานที่เกิดจากอ้อย
ที่ชื่อว่า ปลา พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสัตว์ที่เกิดในน้ำ
ที่ชื่อว่า เนื้อ ได้แก่ เนื้อของสัตว์ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า นมสด ได้แก่ น้ำนมโค น้ำนมแพะ น้ำนมกระบือ หรือน้ำนมสัตว์
ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า นมเปรี้ยว ได้แก่ นมเปรี้ยวของสัตว์มีโคเป็นต้นเหล่านั้นแหละ
ภิกษุณีไม่เป็นไข้ ขอมาเพื่อตน ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ขอ รับประเคนไว้
ด้วยตั้งใจว่า “จักฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏเพราะได้มา เธอฉันต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
ทุก ๆ คำกลืน

บทภาชนีย์
ติกปาฏิเทสนียะ
[1238] ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน
ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :391 }