เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 3 สิกขาบทวิภังค์
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงเดินปลีกตัวจากคณะอยู่เพียงรูปเดียวเล่า” ฯลฯ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีเดินปลีกตัวจากคณะ
อยู่เพียงรูปเดียว จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงเดินปลีกตัวจากคณะ
อยู่เพียงรูปเดียวเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นอีกได้เลย ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[691] อนึ่ง ภิกษุณีใดไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียว ข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียว
ออกไปอยู่พักแรมในราตรีรูปเดียว หรือปลีกตัวจากคณะอยู่รูปเดียว แม้
ภิกษุณีนี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[692] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัส
ว่า อนึ่ง ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียว ความว่า เมื่อเธอย่างเท้าก้าวที่ 1 เข้า
สู่บริเวณรั้วของหมู่บ้านที่มีรั้วล้อม ต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าก้าวที่ 2 ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :39 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 3 อนาปัตติวาร
เมื่อเธอย่างเท้าก้าวที่ 1 เข้าสู่อุปจารของหมู่บ้านที่ไม่มีรั้วล้อม ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย ย่างเท้าก้าวที่ 2 ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า ข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียว ความว่า ที่ชื่อว่าแม่น้ำ คือสถานที่ใดที่หนึ่งซึ่ง
เมื่อภิกษุณีครองผ้าปกปิดมณฑล 3 เดินข้าม อันตรวาสกเปียก เมื่อเธอย่างเท้าก้าว
ที่ 1 ข้ามไปต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าก้าวที่ 2 ข้ามไปต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า ออกไปอยู่พักแรมในราตรีรูปเดียว ความว่า เธอละหัตถบาส(ระยะ
ห่างสองศอกครึ่ง)จากภิกษุณีที่เป็นเพื่อนในขณะที่อรุณขึ้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย พ้น
หัตถบาสแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า หรือปลีกตัวจากคณะอยู่รูปเดียว ความว่า ในป่าซึ่งไม่มีหมู่บ้านอยู่
เมื่อเดินไปกำลังจะพ้นระยะที่จะมองเห็นได้หรือบริเวณที่เพื่อนภิกษุณีจะได้ยินเสียง ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย เมื่อพ้นไปแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้อง
สวดสมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[693] 1. ภิกษุณีที่เพื่อนภิกษุณีจากไป สึก มรณภาพ หรือไปเข้ารีต
2. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
3. ภิกษุณีวิกลจริต
4. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :40 }