เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 9. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ 8-9-10 อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[1211] ก็ภิกษุณีใด(ใช้สิกขมานา ฯลฯ ใช้สามเณรีฯลฯ) ใช้หญิง
คฤหัสถ์ให้บีบหรือให้นวด ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[1212] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่สตรีผู้ศึกษาสิกขาในธรรม 6 ข้อตลอด 2 ปี
ชื่อว่า สามเณรี ได้แก่ สตรีผู้รักษาสิกขาบท 10 ข้อ
ที่ชื่อว่า หญิงคฤหัสถ์ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสตรีผู้ครองเรือน
คำว่า ให้บีบ คือ ภิกษุณีใช้ให้บีบ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า หรือให้นวด คือ ใช้ให้นวด ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[1213] 1. ภิกษุณีใช้ให้บีบหรือนวดเพราะอาพาธเป็นเหตุ
2. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
3. ภิกษุณีวิกลจริต
4. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ 8-9-10 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :375 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 9. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ 11 นิทานวัตถุ
9. ฉัตตุปาหนวรรค

สิกขาบทที่ 11
ว่าด้วยการนั่งบนอาสนะโดยไม่ขอโอกาสก่อน

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[1214] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายไม่บอกก่อน
นั่งบนอาสนะข้างหน้าภิกษุ1 ภิกษุทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีไม่บอกก่อนนั่งบนอาสนะข้างหน้าภิกษุเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้น
ได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีไม่บอกก่อนนั่งบน
อาสนะข้างหน้าภิกษุ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีไม่
บอกก่อนนั่งบนอาสนะข้างหน้าภิกษุเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “ข้างหน้าภิกษุ” ไม่ได้หมายถึงเฉพาะตรงหน้าภิกษุเท่านั้น แต่หมายรวมถึงบริเวณใกล้ ๆ ภิกษุ
บริเวณโดยรอบใกล้กับภิกษุ (กงฺขา.อ. 408)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :376 }