เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 8. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ 7 สิกขาบทวิภังค์
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น แสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[1151] ก็ภิกษุณีใดกล่าวกับสิกขมานาว่า “แม่คุณ ถ้าเธอจักให้จีวรแก่
เรา เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ” ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย
ไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[1152] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม 6 ข้อตลอด 2 ปีแล้ว
คำว่า แม่คุณ ถ้าเธอจักให้จีวรแก่เรา เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ
ความว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะอุปสมบทให้เธอ
คำว่า ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย คือ เมื่ออันตรายไม่มี
คำว่า ไม่บวชให้ คือ ไม่บวชให้ด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ คือ ไม่สั่งภิกษุณีรูปอื่น
พอทอดธุระว่า “จะไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :342 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 8. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ 7 อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[1153] 1. ภิกษุณีไม่บวชให้ในเมื่อมีอันตราย
2. ภิกษุณีแสวงหาแล้วแต่ไม่ได้1
3. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
4. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
5. ภิกษุณีวิกลจริต
6. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงไม่ได้ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์รูปอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :343 }