เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 8. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ 5 นิทานวัตถุ
วิธีขอวุฏฐาปนสมมติและกรรมวาจาให้วุฏฐาปนสมมติ
ภิกษุณีผู้มีพรรษาครบ 12 นั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้าง
หนึ่ง กราบเท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษาแล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
“แม่เจ้า ดิฉันมีชื่อนี้มีพรรษาครบ 12 แล้ว ขอวุฏฐาปนสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ 2 พึงขอแม้ครั้งที่ 3
ภิกษุณีนั้นสงฆ์พึงกำหนดได้ว่า “ภิกษุณีนี้เป็นคนฉลาด มีความละอาย” ถ้า
เธอเขลา ไม่มีความละอาย ก็ไม่ควรให้วุฏฐาปนสมมติ ถ้าเธอเขลาแต่มีความละอาย
ก็ไม่ควรให้ ถ้าเป็นคนฉลาดแต่ไม่มีความละอายก็ไม่ควรให้ แต่ถ้าเป็นทั้งคนฉลาด
และมีความละอายจึงควรให้
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้วุฏฐาปนสมมติอย่างนี้
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[1141] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีนี้มีพรรษาครบ 12 แล้ว
ขอวุฏฐาปนสมมติต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมแล้วพึงให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มี
พรรษาครบ 12 แล้ว นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีนี้มีพรรษาครบ 12 แล้วขอวุฏฐาปนสมมติ
ต่อสงฆ์ สงฆ์ให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มีพรรษาครบ 12 แล้ว แม่เจ้ารูป
ใดเห็นด้วยกับการให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มีพรรษาครบ 12 แล้ว แม่เจ้า
รูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
วุฏฐาปนสมมติสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มีพรรษาครบ 12 แล้ว สงฆ์เห็น
ด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิภิกษุณีเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :336 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 8. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ 5 บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[1142] ก็ภิกษุณีใดมีพรรษาครบ 12 แล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ บวช
ให้กุลธิดา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[1143] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มีพรรษาครบ 12 แล้ว คือ มีพรรษาถึง 12
ที่ชื่อว่า ยังไม่ได้สมมติ คือ สงฆ์ยังมิได้ให้วุฏฐาปนสมมติด้วยญัตติทุติย
กรรมวาจา
คำว่า บวชให้กุลธิดา คือ อุปสมบทให้กุลธิดา
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา 2
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ 2 ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[1144] กรรมที่ทำถูกต้อง1 ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
1 กรรมที่ทำถูกต้อง หมายถึงกรรมวาจาให้วุฏฐาปนสมมติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :337 }