เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 8. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ 5 นิทานวัตถุ
8. กุมารีภูตวรรค

สิกขาบทที่ 5
ว่าด้วยภิกษุณีมีพรรษาครบ 12 เป็นปวัตตินีแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[1140] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายมีพรรษาครบ 12
แล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติบวชให้กุลธิดา พวกเธอเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควร
หรือไม่ควร แม้สัทธิวิหารินีก็เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีมีพรรษาครบ 12 แล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติจึงบวชให้กุลธิดาเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีมีพรรษาครบ 12
แล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติบวชให้กุลธิดา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีมีพรรษาครบ 12 แต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ จึงบวชให้กุลธิดาเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วได้ทรงแสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวุฏฐาปนสมมติ1แก่ภิกษุณีผู้มีพรรษา
ครบ 12 แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้วุฏฐาปนสมมติอย่างนี้

เชิงอรรถ :
1 “วุฏฐาปนสมมติ” แปลว่า สมมติให้เป็นผู้บวชให้กุลธิดา คือการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :335 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 8. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ 5 นิทานวัตถุ
วิธีขอวุฏฐาปนสมมติและกรรมวาจาให้วุฏฐาปนสมมติ
ภิกษุณีผู้มีพรรษาครบ 12 นั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้าง
หนึ่ง กราบเท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษาแล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
“แม่เจ้า ดิฉันมีชื่อนี้มีพรรษาครบ 12 แล้ว ขอวุฏฐาปนสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ 2 พึงขอแม้ครั้งที่ 3
ภิกษุณีนั้นสงฆ์พึงกำหนดได้ว่า “ภิกษุณีนี้เป็นคนฉลาด มีความละอาย” ถ้า
เธอเขลา ไม่มีความละอาย ก็ไม่ควรให้วุฏฐาปนสมมติ ถ้าเธอเขลาแต่มีความละอาย
ก็ไม่ควรให้ ถ้าเป็นคนฉลาดแต่ไม่มีความละอายก็ไม่ควรให้ แต่ถ้าเป็นทั้งคนฉลาด
และมีความละอายจึงควรให้
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้วุฏฐาปนสมมติอย่างนี้
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[1141] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีนี้มีพรรษาครบ 12 แล้ว
ขอวุฏฐาปนสมมติต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมแล้วพึงให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มี
พรรษาครบ 12 แล้ว นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีนี้มีพรรษาครบ 12 แล้วขอวุฏฐาปนสมมติ
ต่อสงฆ์ สงฆ์ให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มีพรรษาครบ 12 แล้ว แม่เจ้ารูป
ใดเห็นด้วยกับการให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มีพรรษาครบ 12 แล้ว แม่เจ้า
รูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
วุฏฐาปนสมมติสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มีพรรษาครบ 12 แล้ว สงฆ์เห็น
ด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิภิกษุณีเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :336 }