เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 7. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ 9 อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[1112] ก็ภิกษุณีใดไม่ติดตามปวัตตินีผู้บวชให้ตลอด 2 ปี ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[1113] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ผู้บวชให้ คือ ผู้อุปสมบทให้
ที่เรียกว่า ปวัตตินี พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงภิกษุณีที่เป็นอุปัชฌาย์
คำว่า ตลอด 2 ปี คือ สิ้น 2 ปี
คำว่า ไม่ติดตาม คือ ไม่อุปัฏฐากเอง
พอทอดธุระว่า “จะไม่ติดตามไปตลอด 2 ปี” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[1114] 1. ภิกษุณีไม่ติดตามอุปัชฌาย์เป็นคนเขลาหรือมีความละอาย
2. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
3. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
4. ภิกษุณีวิกลจริต
5. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ 9 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :319 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 7. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ 10 นิทานวัตถุ
7. คัพภินีวรรค

สิกขาบทที่ 10
ว่าด้วยการไม่พาสหชีวินีหลีกไป
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[1115] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้สหชีวินี
แล้วไม่พาหลีกไป ทั้งไม่ให้ผู้อื่นพาหลีกไป สามีจึงจับ(สหชีวินีนั้น)
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาบวชให้สหชีวินีแล้วไม่พาหลีกไป ทั้งไม่ให้ผู้อื่นพาหลีกไปเล่า สามี
จึงจับ(สหชีวินี) ถ้าภิกษุณีนั้นพึงหลีกไป สามีก็จับเธอไม่ได้” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้
สหชีวินีแล้วไม่พาหลีกไป ทั้งไม่ให้ผู้อื่นพาหลีกไป สามีได้จับ(สหชีวินีนั้น) จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้สหชีวินีแล้วไม่พาหลีกไป ทั้ง
ไม่ให้ผู้อื่นพาหลีกไป จนสามีจับได้เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[1116] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สหชีวินีแล้วไม่พาหลีกไป ไม่ให้พาหลีกไป
โดยที่สุดแม้สิ้นระยะทาง 5-6 โยชน์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :320 }