เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 6. อารามวรรค สิกขาบทที่ 9 อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[1060] คำว่า ทุกกึ่งเดือน คือ ทุกวันอุโบสถ
ที่ชื่อว่า อุโบสถ ได้แก่ อุโบสถ 2 อย่าง คือ อุโบสถวัน 14 ค่ำ และอุโบสถ
วัน 15 ค่ำ
ที่ชื่อว่า โอวาท ได้แก่ ครุธรรม 8 อย่าง1
ภิกษุณีทอดธุระว่า “เราจะไม่ถามอุโบสถบ้าง จะไม่ขอโอวาทบ้าง” ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[1061] 1. ภิกษุณีไม่ถามอุโบสถและไม่ขอโอวาทในเมื่อมีอันตราย
2. ภิกษุณีแสวงหาแล้วแต่ไม่ได้ภิกษุณีเป็นเพื่อน
3. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
4. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
5. ภิกษุณีวิกลจริต
6. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดู วินัยปิฎกแปล เล่ม 2 ข้อ 149 หน้า 322-323, วิ.จู. 7/403/233-235

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :286 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 6. อารามวรรค สิกขาบทที่ 10 นิทานวัตถุ
6. อารามวรรค

สิกขาบทที่ 10
ว่าด้วยการให้บ่งฝีในร่มผ้า

เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง
[1062] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งให้บ่งฝีที่เกิดใน
ร่มผ้าอยู่กันสองต่อสองกับชาย ลำดับนั้น ชายนั้นพยายามจะข่มขืนภิกษุณีนั้น เธอ
ได้ส่งเสียงร้องขึ้น ภิกษุณีทั้งหลายวิ่งเข้าไปได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า
เธอส่งเสียงร้องทำไม” เธอจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงใช้ชายให้บ่งฝีที่เกิดในร่มผ้าอยู่กันสองต่อสองกับชายเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีใช้บุรุษให้บ่งฝีที่เกิด
ในร่มผ้าอยู่กันสองต่อสองกับบุรุษ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีจึงใช้บุรุษให้บ่งฝีที่เกิดในร่มผ้าอยู่กันสองต่อสองกับบุรุษเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :287 }