เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 6. อารามวรรค สิกขาบทที่ 5 นิทานวัตถุ
6. อารามวรรค

สิกขาบทที่ 5
ว่าด้วยความหวงตระกูล

เรื่องภิกษุณีหวงตระกูล
[1042] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตใน
ตรอกแห่งหนึ่งในกรุงสาวัตถี เข้าไปที่ตระกูลแห่งหนึ่ง นั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ ครั้น
คนทั้งหลายนิมนต์เธอให้ฉันแล้วกล่าวดังนี้ว่า “แม้ภิกษุณีอื่น ๆ ก็นิมนต์มาเถิด
เจ้าข้า”
ขณะนั้น ภิกษุณีนั้นคิดว่า ทำอย่างไร ภิกษุณีอื่น ๆ จึงจะไม่มา จึงเข้าไปหา
ภิกษุณีทั้งหลายบอกว่า “ในที่โน้นสุนัขดุ โคดุ สถานที่ลื่น พวกท่านอย่าไปที่นั้นเลย”
ภิกษุณีแม้อีกรูปหนึ่งได้ไปบิณฑบาตที่ตรอกนั้น เข้าไปที่ตระกูลนั้นตั้งอยู่
ครั้นแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ ลำดับนั้น คนทั้งหลายนิมนต์ให้ภิกษุณีนั้นฉันแล้ว
ได้กล่าวดังนี้ว่า “แม่เจ้า ทำไมภิกษุณีทั้งหลายจึงไม่มา” ครั้งนั้น ภิกษุณีนั้นบอกเรื่อง
นั้นให้คนทั้งหลายทราบ คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณี
จึงหวงตระกูลเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้
ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีหวงตระกูล จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ
ว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงหวงตระกูลเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่ง
ขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :277 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 6. อารามวรรค สิกขาบทที่ 5 อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[1043] ก็ภิกษุณีใดหวงตระกูล ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหวงตระกูล จบ

สิกขาบทวิภังค์
[1044] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ตระกูล หมายถึงตระกูล 4 ได้แก่ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์
ตระกูลแพศย์ ตระกูลศูทร
ที่ชื่อว่า หวง คือ ภิกษุณีกล่าวโทษของตระกูลในสำนักภิกษุณีทั้งหลายด้วย
ประสงค์ว่า “ทำอย่างไร ภิกษุณีทั้งหลายจึงจะไม่มา” ต้องอาบัติปาจิตตีย์ หรือ
กล่าวโทษภิกษุณีในสำนักตระกูล ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[1045] 1. ภิกษุณีไม่ได้หวงตระกูลแต่บอกเฉพาะโทษที่มีอยู่
2. ภิกษุณีวิกลจริต
3. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ 5 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :278 }