เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 6. อารามวรรค สิกขาบทที่ 3 นิทานวัตถุ
6. อารามวรรค

สิกขาบทที่ 3
ว่าด้วยการบริภาษคณะ

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[1033] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีชอบก่อความ
บาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เมื่อ
สงฆ์ทำกรรมแก่จัณฑกาลีนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาก็คัดค้าน
ต่อมา ภิกษุณีถุลลนันทาเดินทางไปยังหมู่บ้านด้วยธุระบางอย่าง ภิกษุณีสงฆ์
พอรู้ว่า “ภิกษุณีถุลลนันทาจากไปแล้ว” จึงลงอุกเปขนียกรรมแก่ภิกษุณีจัณฑกาลี
เพราะไม่เห็นอาบัติ ครั้นภิกษุณีถุลลนันทาทำธุระนั้นในหมู่บ้านเสร็จแล้วกลับมา
ยังกรุงสาวัตถี เมื่อภิกษุณีถุลลนันทากำลังมา ภิกษุณีจัณฑกาลีไม่ปูอาสนะ ไม่ตั้ง
น้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตรและจีวร ไม่เอาน้ำดื่ม
ต้อนรับ
ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีจัณฑกาลีนั้นดังนี้ว่า “เมื่อฉันกำลังมา
ไฉนเธอไม่ปูอาสนะ ไม่ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตร
และจีวร ไม่เอาน้ำดื่มต้อนรับเล่า”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า “แม่เจ้า คนไม่มีที่พึ่งก็เป็นอย่างนี้แหละ”
ภิกษุณีถุลลนันทาถามว่า “เพราะเหตุไรเธอจึงไม่มีที่พึ่ง”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า “แม่เจ้า ภิกษุณีเหล่านี้เข้าใจว่า ดิฉันไม่มีที่พึ่ง
ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครคอยกล่าวปกป้อง จึงลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ”
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงขึ้งเคียดบริภาษคณะว่า “ภิกษุณีพวกนี้โง่เขลา ภิกษุณี
พวกนี้ไม่ฉลาด ภิกษุณีพวกนี้ไม่รู้จักกรรม โทษของกรรม กรรมวิบัติ หรือ
กรรมสมบัติ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :271 }