เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 6. อารามวรรค สิกขาบทที่ 2 อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[1031] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ด่าหรือบริภาษ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ด่าหรือบริภาษ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ด่าหรือบริภาษ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุณีด่าหรือบริภาษอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ด่าหรือบริภาษ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ด่าหรือบริภาษ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ด่าหรือบริภาษ ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[1032] 1. ภิกษุณีมุ่งอรรถ
2. ภิกษุณีมุ่งธรรม
3. ภิกษุณีมุ่งสั่งสอน
4. ภิกษุณีวิกลจริต
5. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :270 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 6. อารามวรรค สิกขาบทที่ 3 นิทานวัตถุ
6. อารามวรรค

สิกขาบทที่ 3
ว่าด้วยการบริภาษคณะ

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[1033] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีชอบก่อความ
บาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เมื่อ
สงฆ์ทำกรรมแก่จัณฑกาลีนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาก็คัดค้าน
ต่อมา ภิกษุณีถุลลนันทาเดินทางไปยังหมู่บ้านด้วยธุระบางอย่าง ภิกษุณีสงฆ์
พอรู้ว่า “ภิกษุณีถุลลนันทาจากไปแล้ว” จึงลงอุกเปขนียกรรมแก่ภิกษุณีจัณฑกาลี
เพราะไม่เห็นอาบัติ ครั้นภิกษุณีถุลลนันทาทำธุระนั้นในหมู่บ้านเสร็จแล้วกลับมา
ยังกรุงสาวัตถี เมื่อภิกษุณีถุลลนันทากำลังมา ภิกษุณีจัณฑกาลีไม่ปูอาสนะ ไม่ตั้ง
น้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตรและจีวร ไม่เอาน้ำดื่ม
ต้อนรับ
ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีจัณฑกาลีนั้นดังนี้ว่า “เมื่อฉันกำลังมา
ไฉนเธอไม่ปูอาสนะ ไม่ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตร
และจีวร ไม่เอาน้ำดื่มต้อนรับเล่า”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า “แม่เจ้า คนไม่มีที่พึ่งก็เป็นอย่างนี้แหละ”
ภิกษุณีถุลลนันทาถามว่า “เพราะเหตุไรเธอจึงไม่มีที่พึ่ง”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า “แม่เจ้า ภิกษุณีเหล่านี้เข้าใจว่า ดิฉันไม่มีที่พึ่ง
ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครคอยกล่าวปกป้อง จึงลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ”
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงขึ้งเคียดบริภาษคณะว่า “ภิกษุณีพวกนี้โง่เขลา ภิกษุณี
พวกนี้ไม่ฉลาด ภิกษุณีพวกนี้ไม่รู้จักกรรม โทษของกรรม กรรมวิบัติ หรือ
กรรมสมบัติ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :271 }