เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 1 สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
ชอบก่อคดีพิพาทเล่า” ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นผู้ชอบ
ก่อคดีพิพาท จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงเป็นผู้ชอบก่อ
คดีพิพาทเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[679] ก็ภิกษุณีใดก่อคดีพิพาทกับคหบดี กับบุตรคหบดี กับทาส หรือ
กับกรรมกร โดยที่สุดกระทั่งกับสมณปริพาชก ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือ
สังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ1
เรื่องอุบาสกกับภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[680] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “ปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ” เป็นชื่อเฉพาะของธรรมคืออาบัติสังฆาทิเสสที่ต้องในทันทีที่ล่วงละเมิด
โดยไม่มีการสวดสมนุภาสน์ และภิกษุณีที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสต้องถูกไล่ออกจากภิกษุณีสงฆ์ (วิ.อ. 2/
679/471)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :27 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 1 สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ก่อคดีพิพาท พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผู้ก่อคดี
ที่ชื่อว่า คหบดี ได้แก่ ชายผู้ครองเรือนคนใดคนหนึ่ง
ที่ชื่อว่า บุตรคหบดี ได้แก่ บุตรและพี่น้องชายคนใดคนหนึ่ง
ที่ชื่อว่า ทาส ได้แก่ ทาสในเรือนเบี้ย ทาสน้ำเงิน ทาสเชลย
ที่ชื่อว่า กรรมกร ได้แก่ คนรับจ้างชั่วคราว คนงานประจำ
ที่ชื่อว่า สมณปริพาชก ได้แก่ นักบวชคนใดคนหนึ่งอยู่ในลัทธิปริพาชก
ยกเว้นภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร และสามเณรี
ภิกษุณีแสวงหาเพื่อนหรือเดินไปด้วยตั้งใจว่า “จะก่อคดี๋ ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกเรื่องของคนหนึ่ง(แก่ตุลาการ) ต้องอาบัติทุกกฏ บอกเรื่องของคนที่สอง ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย เมื่อศาลตัดสินแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้องสวด
สมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้นสงฆ์เท่านั้นให้มานัต ชักเข้า
หาอาบัติเดิม เรียกเข้าหมู่1 ภิกษุณีหลายรูปก็ทำไม่ได้ ภิกษุณีรูปเดียวก็ทำไม่ได้
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส
คำว่า สังฆาทิเสส นี้เป็นการขนานนาม เป็นคำเรียกหมวดอาบัตินั้นนั่นเอง
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส2

เชิงอรรถ :
1 “ชักเข้าหาอาบัติเดิม” คือมูลปฏิกัสสนา “เรียกเข้าหมู่” คืออัพภาน
2 สังฆาทิเสสนี้เป็นชื่อเรียกกองอาบัติ แปลว่า “หมู่อาบัติที่ต้องการสงฆ์ทั้งในระยะเบื้องต้นและในระยะที่
เหลือ” หมายความว่า ภิกษุณีผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสจะออกจากอาบัตินั้นได้ต้องอาศัยสงฆ์ให้มานัต(ปักข
มานัต) ชักเข้าหาอาบัติเดิมและอัพภาน(เรียกเข้าหมู่) ในกรรมทั้งหมดนี้ ขาดสงฆ์เสียแล้ว ก็ทำไม่ได้สำเร็จ
ภิกษุณีผู้จะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสนั้น แม้จะปิดอาบัติไว้ก็ไม่ต้องอยู่ปริวาส ประพฤติปักขมานัตในสงฆ์
2 ฝ่ายเลยทีเดียว” (กงฺขา.อ. 355, ดู วิ. มหา. 1/237/252 เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :28 }