เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 1 นิทานวัตถุ
2. สังฆาทิเสสกัณฑ์
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือสังฆาทิเสส 17 สิกขาบทเหล่านี้มาถึงวาระที่จะ
ยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 1
ว่าด้วยการก่อคดีพิพาท

เรื่องอุบาสกกับภิกษุณีถุลลนันทา
[678] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อุบาสกคนหนึ่งถวายโรงเก็บของ
แก่ภิกษุณีสงฆ์แล้วถึงแก่กรรม เขามีบุตร 2 คน คนหนึ่งไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใส
อีกคนหนึ่งมีศรัทธาเลื่อมใส บุตรทั้งสองแบ่งสมบัติของบิดา บุตรคนที่ไม่มีศรัทธา
ไม่เลื่อมใสได้กล่าวกับบุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้นดังนี้ว่า “พวกเรายังมีโรงเก็บของ
อยู่ เอาโรงเก็บของนี้มาแบ่งกันเถิด”
เมื่อเขากล่าวอย่างนั้น บุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสได้กล่าวกับบุตรคนที่ไม่มี
ศรัทธาไม่เลื่อมใสดังนี้ว่า “ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ บิดาของพวกเราถวายโรงเก็บ
ของให้ภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
บุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสได้กล่าวกับบุตรคนมีศรัทธาเลื่อมใสนั้นแม้ครั้ง
ที่ 2 ดังนี้ว่า “พวกเรายังมีโรงเก็บของอยู่ เอามันมาแบ่งกันเถิด” บุตรคนที่มี
ศรัทธาเลื่อมใสก็กล่าวกับบุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสดังนี้ว่า “ท่านอย่าได้กล่าว
อย่างนี้ บิดาของพวกเราถวายโรงเก็บของให้ภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
บุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสกล่าวกับบุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสแม้ครั้งที่ 3
ว่า “พวกเรายังมีโรงเก็บของอยู่ เอามันมาแบ่งกันเถิด”
ต่อมา บุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสคิดว่า ถ้าเราได้โรงเก็บของก็จักถวายภิกษุณีสงฆ์
จึงกล่าวกับบุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสดังนี้ว่า “ตกลง เราจะแบ่งมรดกกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :25 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 1 นิทานวัตถุ
ครั้งนั้น เมื่อทั้งสองกำลังแบ่งกันอยู่ โรงเก็บของตกเป็นสมบัติของบุตรคนที่ไม่มี
ศรัทธาไม่เลื่อมใส ต่อมา บุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสได้เข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย
แล้วได้กล่าวดังนี้ว่า “เชิญท่านทั้งหลายออกไป โรงเก็บของเป็นสมบัติของกระผม”
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับบุรุษนั้นดังนี้ว่า “เธออย่า
ได้กล่าวอย่างนี้ บิดาของเธอถวายโรงเก็บของให้ภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
ทั้งสองฝ่ายโต้เถียงกันว่า ถวาย ไม่ได้ถวาย จึงพากันไปฟ้องพวกมหาอมาตย์
ผู้พิพากษา
พวกมหาอมาตย์ถามว่า “แม่เจ้า มีใครบ้างที่พอจะรู้เห็นเป็นพยานได้ว่า
โรงเก็บของเขาถวายภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
เมื่อพวกมหาอมาตย์กล่าวอย่างนี้ ภิกษุณีถุลลนันทาจึงได้กล่าวกับพวกมหา
อมาตย์ดังนี้ว่า “พวกท่านเคยเห็นหรือได้ยินบ้างไหมว่า เมื่อจะถวายทานจะต้องมี
พยานด้วย”
พวกมหาอมาตย์ตอบว่า “แม่เจ้ากล่าวจริง” จึงตัดสินมอบโรงเก็บของให้
ภิกษุณีสงฆ์ไป
บุรุษนั้นแพ้คดี จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “หญิงชั่วหัวโล้นเหล่านี้
ไม่ใช่สมณะหญิง ไฉนจึงให้ผู้พิพากษาริบโรงเก็บของของเราเล่า”
ภิกษุณีถุลลนันทาบอกเรื่องนั้นให้พวกมหาอมาตย์ทราบ พวกมหาอมาตย์ได้
ปรับสินไหมเขา บุรุษนั้นถูกปรับจึงให้สร้างที่พักอาชีวก1 ไว้ใกล้ที่อยู่ภิกษุณีแล้วสั่ง
อาชีวกว่า “พวกท่านจงช่วยกันพูดตะโกนใส่ภิกษุณีเหล่านี้”
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงบอกเรื่องนั้นให้พวกมหาอมาตย์ทราบ พวกมหาอมาตย์
สั่งให้จับบุรุษนั้นจองจำไว้ พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ครั้ง
แรกพวกภิกษุณีให้เจ้าหน้าที่ริบโรงเก็บของ ครั้งที่ 2 ให้ปรับสินไหม ครั้งที่ 3 ให้
จองจำ คราวนี้เห็นทีจะสั่งฆ่า”

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “อาชีวก” เป็นคำเรียกนักบวชชีเปลือยพวกหนึ่งในครั้งพุทธกาล เป็นสาวกของมักขลิโคสาล (ดู
ทีฆนิกาย สีลขันวรรค แปล 9/167-169/54-56)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :26 }