เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 5. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ 5 นิทานวัตถุ
5. จิตตาคารวรรค

สิกขาบทที่ 5
ว่าด้วยการไม่ช่วยระงับอธิกรณ์

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[994] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุณี
ถุลลนันทากล่าวว่า “แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด” ภิกษุณีถุลลนันทา
รับปากแต่ไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ ลำดับนั้น ภิกษุณีนั้นได้
บอกเรื่องนี้ให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาอันภิกษุณีขอร้องอยู่ว่า ‘แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด’
รับปากแล้วแต่ไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาอันภิกษุณี
ขอร้องอยู่ว่า ‘แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด’ รับปากแล้วแต่ไม่ช่วยระงับ
ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
อันภิกษุณีขอร้องอยู่ว่า ‘แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด’ รับปากแล้ว
แต่ไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :247 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 5. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ 5 สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[995] ก็ภิกษุณีใดอันภิกษุณีขอร้องอยู่ว่า ‘แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับ
อธิกรณ์นี้ด้วยเถิด’ รับปากแล้ว ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย ไม่ช่วยระงับ
ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[996] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า อันภิกษุณี คือ ภิกษุณีรูปอื่น
ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่ อธิกรณ์ 4 อย่าง1 คือ (1) วิวาทาธิกรณ์
(2) อนุวาทาธิกรณ์ (3) อาปัตตาธิกรณ์ (4) กิจจาธิกรณ์
คำว่า แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด ความว่า เชิญแม่เจ้าไป
ช่วยวินิจฉัยคดีนี้ด้วยเถิด
คำว่า ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย คือ เมื่อไม่มีอันตราย
คำว่า ไม่ช่วยระงับ คือ ไม่ระงับด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ คือ ไม่สั่งผู้อื่น เมื่อทอดธุระว่า
“เราจักไม่ระงับ จักไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
1 อธิกรณ์ 4 อย่าง คือ
1. วิวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การเถียงกันว่า นี้เป็นธรรมวินัย นี้ไม่ใช่ธรรมวินัยเป็นต้น
2. อนุวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การโจทกันด้วยศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ
3. อาปัตตาธิกรณ์ ได้แก่ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติและแก้ต่างให้พ้นอาบัติ
4. กิจจาธิกรณ์ ได้แก่ กิจธุระของสงฆ์ เช่น อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม
ญัตติจตุตถกรรม มีการสวดปาติโมกข์เป็นต้น (ดู วิ.ป. 8/348-291/222-225)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :248 }