เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 5. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ 4 นิทานวัตถุ
5. จิตตาคารวรรค

สิกขาบทที่ 4
ว่าด้วยการช่วยทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[990] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีช่วยทำการ
ขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์ บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงช่วยทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์เล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีช่วยทำการ
ขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีช่วย
ทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[991] ก็ภิกษุณีใดช่วยทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :245 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 5. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ 4 อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[992] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ช่วยทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์ คือ ต้มข้าวต้ม หุงภัตตาหาร
หรือทำของเคี้ยว ซักผ้านุ่งหรือผ้าโพกเพื่อคฤหัสถ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[993] 1. ภิกษุณีต้มข้าวต้ม จัดน้ำปานะถวายสงฆ์
2. ภิกษุณีหุงข้าวถวายสงฆ์
3. ภิกษุณีทำการบูชาเจดีย์
4. ภิกษุณีต้มข้าวต้ม หุงภัตตาหารหรือทำของเคี้ยว ซักผ้านุ่งผ้าห่ม
หรือผ้าโพกให้ไวยาวัจกรของตน
5. ภิกษุณีวิกลจริต
6. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ 4 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :246 }