เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 4. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ 9 อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[971] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ภายในพรรษา คือ ไม่อยู่ตลอดพรรษาต้น 3 เดือน หรือตลอดพรรษา
หลัง 3 เดือน
คำว่า เที่ยวจาริกไป คือ เที่ยวจาริกไปในหมู่บ้านมีกำหนดระยะชั่วไก่บินตก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ละแวกหมู่บ้าน เที่ยวจาริกไปในป่าไม่มีหมู่บ้าน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ครึ่งโยชน์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[972] 1. ภิกษุณีไปด้วยสัตตาหกรณียะ1
2. ภิกษุณีถูกรบกวนจึงไป
3. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
4. ภิกษุณีวิกลจริต
5. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 “สัตตาหกรณียะ” คือธุระที่พึงทำเสร็จได้ในเวลา 7 วัน หมายถึงธุระเป็นเหตุให้ภิกษุออกจากวัดไปค้าง
คืนที่อื่นได้ แต่ต้องกลับมาภายในเวลา 7 วัน เป็นธุระที่ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี
อุบาสก อุบาสิกาส่งข่าวมานิมนต์ไป เช่นไปเพื่อพยาบาลภิกษุและภิกษุณีเป็นต้น(สหธรรมิก) หรือมารดาบิดา
ไปเพื่อระงับเพื่อนภิกษุเป็นต้นผู้กระสันจะสึก ไปเพื่อกิจของสงฆ์ เช่นสร้างวิหารหรือซ่อมวิหารที่ชำรุด ไป
กิจนิมนต์ (ดู.วิ.ม. 4/187-202/205-224)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :235 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 4. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ 10 นิทานวัตถุ
4. ตุวัฏฏวรรค

สิกขาบทที่ 10
ว่าด้วยการไม่หลีกจาริกไป

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[973] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน
สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกภิกษุณีอยู่จำพรรษาในเมือง
ราชคฤห์นั่นแหละตลอดฤดูฝน อยู่ในเมืองราชคฤห์นั้นตลอดฤดูหนาว อยู่ในเมือง
ราชคฤห์นั้นตลอดฤดูร้อน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ทิศทั้งหลาย
คงคับแคบมืดมนสำหรับภิกษุณี ภิกษุณีเหล่านี้จึงมองไม่เห็นทิศทาง”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา ลำดับนั้น
ภิกษุณีเหล่านั้นจึงบอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่
ภิกษุณีทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือ
1. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
ฯลฯ
9. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม
10. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุณีทั้งหลายพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :236 }