เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 4. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ 6 สิกขาบทวิภังค์
นี้ยังยืนยันอยู่อย่างนั้น ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ
3 ครั้งเพื่อให้สละเรื่องนั้น ถ้าเธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ 3 ครั้ง
สละเรื่องนั้นได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ

สิกขาบทวิภังค์
[957] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า คลุกคลี คือ คลุกคลีกันทางกายและวาจาที่ไม่สมควร
ที่ชื่อว่า คหบดี ได้แก่ บุรุษผู้ครองเรือนคนใดคนหนึ่ง
ที่ชื่อว่า บุตรคหบดี ได้แก่ บุตรและพี่ชายน้องชายคนใดคนหนึ่ง
คำว่า ภิกษุณีนั้น ได้แก่ ภิกษุณีผู้อยู่คลุกคลีคนใดคนหนึ่ง
คำว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุณีพวกอื่น
ภิกษุณีผู้ได้เห็นได้ทราบพึงว่ากล่าวตักเตือนภิกษุณีผู้คลุกคลีว่า “น้องหญิง
ท่านอย่าอยู่คลุกคลีกับคหบดีหรือกับบุตรคหบดี น้องหญิงจงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์
ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงเท่านั้น” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่
2 พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ 3 ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุณีผู้ทราบเรื่องแล้วไม่ว่ากล่าวตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณี
นั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงนำตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนว่า “น้องหญิง
เธออย่าอยู่คลุกคลีกับคหบดีหรือกับบุตรคหบดี น้องหญิงจงแยกกันอยู่ สงฆ์ย่อม
สรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงเท่านั้น” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ 2
พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ 3 ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้อง
อาบัติทุกกฏ สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :227 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 4. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ 6 บทภาชนีย์
วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์อย่างนี้ คือ ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถ
พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[958] แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้อยู่คลุกคลีกับคหบดีบ้าง
กับบุตรคหบดีบ้าง เธอยังไม่สละเรื่องนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงสวดสมนุภาสน์
ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้อยู่คลุกคลีกับคหบดีบ้าง กับบุตร
คหบดีบ้าง เธอยังไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น
แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้า
รูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่ 2 ฯลฯ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่ 3
ฯลฯ
ภิกษุณีชื่อนี้สงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้วเพื่อให้สละเรื่องนั้น สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา 2 ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ 2 ตัว
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[959] กรรมที่ทำถูกต้อง1 ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
1 กรรมที่ทำถูกต้อง หมายถึงกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์ดังกล่าวข้างต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :228 }