เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 4. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ 4 อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[948] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ได้รับความลำบาก พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผู้เป็นไข้
ที่ชื่อว่า สหชีวินี ตรัสหมายถึงสัทธิวิหารินี
คำว่า ไม่ดูแลช่วยเหลือ คือ ไม่ดูแลช่วยเหลือด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลือ คือ ไม่สั่งผู้อื่น
ภิกษุณีทอดธุระว่า “จะไม่ดูแลช่วยเหลือ จะไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแล
ช่วยเหลือ” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุณีไม่ดูแลช่วยเหลือ ไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลืออันเตวาสินี
หรืออนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[949] 1. ภิกษุณีผู้ทอดธุระเมื่อมีอันตราย
2. ภิกษุณีหาผู้ช่วยไม่ได้
3. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
4. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
5. ภิกษุณีวิกลจริต
6. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ 4 จบ

เชิงอรรถ :
1สหชีวินี คือภิกษุณีผู้ที่ตนเป็นอุปัชฌาย์บวชให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :221 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 4. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ 5 นิทานวัตถุ
4. ตุวัฏฏวรรค

สิกขาบทที่ 5
ว่าด้วยการฉุดลากออก

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[950] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระภัททกาปิลานีจำพรรษาที่
เมืองสาเกต เธอส่งทูตไปสำนักของภิกษุณีถุลลนันทาด้วยธุระบางอย่าง ให้แจ้งว่า
“ถ้าแม่เจ้าถุลลนันทาให้ที่พัก ดิฉันจะมากรุงสาวัตถี”
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวว่า “เชิญมาเถิด ดิฉันจะให้”
ลำดับนั้น พระภัททกาปิลานีเดินทางจากเมืองสาเกตไปถึงกรุงสาวัตถี ภิกษุณี
ถุลลนันทาได้ให้ที่พักแก่พระภัททกาปิลานี
สมัยนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า สามารถ
กล่าวธรรมีกถา แม้พระภัททกาปิลานีก็เป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า สามารถ
กล่าวธรรมีกถา ทั้งเธอก็ได้รับสรรเสริญว่า มีคุณสมบัติยิ่งกว่า
คนทั้งหลายเห็นว่า ภิกษุณีภัททกาปิลานีเป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า
สามารถกล่าวธรรมีกถา ทั้งเธอก็ได้รับสรรเสริญว่ามีคุณสมบัติยิ่งกว่า จึงเข้าไปหา
พระเถรีก่อนแล้วไปหาภิกษุณีถุลลนันทาภายหลัง ภิกษุณีถุลลนันทารู้ว่า “ธรรมดา
ภิกษุณีผู้สาละวนอยู่กับการอภิปรายเรื่องราวให้ผู้อื่นเข้าใจ ย่อมมักน้อย สันโดษ
ชอบสงัด ไม่คลุกคลี” จึงโกรธ ขัดใจ ฉุดลากพระภัททกาปิลานีออกจากห้อง
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
เจ้าถุลลนันทาให้ที่พักแก่แม่เจ้าภัททกาปิลานีแล้วโกรธ ขัดใจ ฉุดลากออกไปเล่า”
ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :222 }