เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 4. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ 3 สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาจงใจก่อความ
ไม่ผาสุกแก่ภัททกาปิลานี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงจงใจก่อความไม่ผาสุกแก่ภัททกาปิลานีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[942] ก็ภิกษุณีใดจงใจก่อความไม่ผาสุกแก่ภิกษุณี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[943] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า แก่ภิกษุณี คือ แก่ภิกษุณีรูปอื่น
คำว่า จงใจ คือ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ฝ่าฝืน ล่วงละเมิด
คำว่า ก่อความไม่ผาสุก คือ ภิกษุณีผู้ก่อความไม่ผาสุกนั้นคิดว่า “วิธีนี้จะ
ทำให้ภิกษุณีนี้ไม่ผาสุก” ไม่ขอโอกาส จงกรมบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง
ยกขึ้นแสดงเองบ้าง ใช้ผู้อื่นให้ยกขึ้นแสดงบ้าง ท่องบ่นบ้าง อยู่ข้างหน้า ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :218 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 4. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ 3 อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[944] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน จงใจก่อความไม่ผาสุก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ จงใจก่อความไม่ผาสุก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน จงใจก่อความไม่ผาสุก ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุณีจงใจก่อความไม่ผาสุกแก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[945] 1. ภิกษุณีไม่ประสงค์ก่อความไม่ผาสุก ขอโอกาส จงกรม ยืน นั่ง
นอน ยกขึ้นแสดงเอง ใช้ผู้อื่นให้ยกขึ้นแสดง หรือท่องบ่นข้างหน้า
2. ภิกษุณีวิกลจริต
3. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :219 }