เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 4 สิกขาบทวิภังค์
กับชายผู้กำหนัดบ้าง จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
มีความกำหนัดยินดีการจับมือบ้าง ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับมุมสังฆาฏิบ้าง ยืน
เคียงคู่กันกับชายบ้าง สนทนากันบ้าง ไปที่นัดหมายบ้าง ยินดีการที่ชายมาหาบ้าง
เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับบ้าง น้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้นเพื่อจะเสพ
อสัทธรรมกับชายผู้กำหนัดบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[675] ก็ภิกษุณีใดกำหนัดพึงยินดีการจับมือ ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับ
มุมสังฆาฏิ ยืนเคียงคู่กันกับชาย สนทนากัน ไปที่นัดหมาย ยินดีการที่ชาย
มาหา เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับ หรือน้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้น
เพื่อจะเสพอสัทธรรม1นั้นกับชายผู้กำหนัด แม้ภิกษุณีนี้เป็นปาราชิกชื่อ
อัฏฐวัตถุกา2 หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[676] คำว่า ก็ ... ใด คือผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

เชิงอรรถ :
1 “อสัทธรรม” ในที่นี้หมายถึงการถูกต้องกันทางกาย ไม่ใช่เมถุนธรรม (วิ.อ. 2/675/467)
2 คำว่า “อัฏฐวัตถุกา” แปลว่า วัตถุ เหตุ หรือกรณี 8 อย่าง เป็นชื่อเรียกภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิก
สิกขาบทนี้ เมื่อทำครบ 8 อย่าง คือ (1) ยินดีการจับมือ (2) ยินดีการจับมุมสังฆาฏิ (3) ยืนเคียงคู่
(4) สนทนากัน (5) ไปที่นัดหมาย (6) ยินดีที่เขามาหา (7) เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับ (8) น้อมกาย
เข้าเพื่อจะเสพอสัทธรรมกับชายผู้กำหนัด (วิ.อ. 2/676/468)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :21 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 4 สิกขาบทวิภังค์
ที่ชื่อว่า กำหนัด ได้แก่ ภิกษุณีมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ผู้กำหนัด ได้แก่ ชายมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
แต่เป็นชายที่รู้เดียงสา สามารถถูกต้องกายได้
คำว่า ยินดีการจับมือ ความว่า ที่ชื่อว่า มือ หมายเอาตั้งแต่ข้อศอกถึงปลาย
เล็บ ภิกษุณียินดีการจับอวัยวะบริเวณเหนือรากขวัญขึ้นไป ใต้เข่าลงมา เพื่อจะเสพ
อสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ยินดีการ...จับมุมสังฆาฏิ คือ ยินดีการจับผ้านุ่งหรือผ้าห่มเพื่อจะ
เสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ยืนเคียงคู่กัน คือ ยืนอยู่ในระยะช่วงแขนของชายเพื่อจะเสพอสัทธรรม
นั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า สนทนากัน คือ ยืนสนทนาอยู่ในระยะช่วงแขนของชายเพื่อจะเสพ
อสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ไปที่นัดหมาย ความว่า ภิกษุณีที่ชายสั่งว่า “จงมายังที่ชื่อนี้” แล้ว
ไปเพื่อจะเสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ ย่างเท้า พอย่างเข้าระยะช่วง
แขนของชาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ยินดีการที่ชายมาหา ความว่า ยินดีการที่ชายมาเพื่อจะเสพอสัทธรรม
ต้องอาบัติทุกกฏ พอย่างเข้าระยะช่วงแขน ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับ ความว่า พอย่างเข้าสถานที่ที่ปกปิดด้วยวัตถุอย่างใด
อย่างหนึ่งเพื่อจะเสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า หรือน้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้น ความว่า อยู่ในระยะ
ช่วงแขนของชาย น้อมกายเข้าไปเพื่อจะเสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :22 }