เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 4 สิกขาบทวิภังค์
กับชายผู้กำหนัดบ้าง จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
มีความกำหนัดยินดีการจับมือบ้าง ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับมุมสังฆาฏิบ้าง ยืน
เคียงคู่กันกับชายบ้าง สนทนากันบ้าง ไปที่นัดหมายบ้าง ยินดีการที่ชายมาหาบ้าง
เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับบ้าง น้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้นเพื่อจะเสพ
อสัทธรรมกับชายผู้กำหนัดบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[675] ก็ภิกษุณีใดกำหนัดพึงยินดีการจับมือ ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับ
มุมสังฆาฏิ ยืนเคียงคู่กันกับชาย สนทนากัน ไปที่นัดหมาย ยินดีการที่ชาย
มาหา เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับ หรือน้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้น
เพื่อจะเสพอสัทธรรม1นั้นกับชายผู้กำหนัด แม้ภิกษุณีนี้เป็นปาราชิกชื่อ
อัฏฐวัตถุกา2 หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[676] คำว่า ก็ ... ใด คือผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

เชิงอรรถ :
1 “อสัทธรรม” ในที่นี้หมายถึงการถูกต้องกันทางกาย ไม่ใช่เมถุนธรรม (วิ.อ. 2/675/467)
2 คำว่า “อัฏฐวัตถุกา” แปลว่า วัตถุ เหตุ หรือกรณี 8 อย่าง เป็นชื่อเรียกภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิก
สิกขาบทนี้ เมื่อทำครบ 8 อย่าง คือ (1) ยินดีการจับมือ (2) ยินดีการจับมุมสังฆาฏิ (3) ยืนเคียงคู่
(4) สนทนากัน (5) ไปที่นัดหมาย (6) ยินดีที่เขามาหา (7) เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับ (8) น้อมกาย
เข้าเพื่อจะเสพอสัทธรรมกับชายผู้กำหนัด (วิ.อ. 2/676/468)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :21 }