เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 3. นัคควรรค สิกขาบทที่ 9 นิทานวัตถุ
3. นัคควรรค

สิกขาบทที่ 9
ว่าด้วยการให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[920] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของภิกษุณี
ถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า ถ้าพวกเราสามารถ ก็จะ
ถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์” ครั้นภิกษุณีทั้งหลายจำพรรษาแล้วประชุมกันด้วยประสงค์
จะแจกจีวร ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย
โปรดรอก่อน ภิกษุณีสงฆ์มีความหวังในจีวร”
ภิกษุณีทั้งหลายได้กล่าวกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า เชิญท่านไป
สืบดูจีวรนั้นให้รู้เรื่อง”
ภิกษุณีถุลลนันทาเข้าไปถึงตระกูลนั้น ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับคนเหล่านั้นดังนี้
ว่า “ท่านทั้งหลายจงถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์”
คนเหล่านั้นกล่าวว่า “พวกเรายังไม่สามารถที่จะถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์”
ภิกษุณีถุลลนันทานำเรื่องนั้นไปบอกให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงให้
ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล1ด้วยความหวังในจีวรที่เลื่อนลอย2เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
1 สมัยแห่งจีวรกาล คือในเมื่อไม่ได้กรานกฐินนับเอาตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12
รวมเวลา 1 เดือน ในเมื่อได้กรานกฐินแล้ว นับเอาตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
รวมเวลา 5 เดือน ระยะเวลาในช่วงนี้เรียกว่า สมัยแห่งจีวรกาล
2 “ความหวังในจีวรที่เลื่อนลอย” หมายถึงความหวังที่ภิกษุณีตั้งไว้เพราะได้ฟังเพียงคำของทายกว่า “ถ้า
สามารถก็จะถวาย” เป็นความหวังที่เลื่อนลอย ไม่แน่นอน (กงฺขา.อ. 378)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :206 }