เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 3. นัคควรรค สิกขาบทที่ 8 อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[917] ก็ภิกษุณีใดให้สมณจีวรแก่ชาวบ้าน แก่ปริพาชก หรือปริพาชิกา
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[918] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ชาวบ้าน ได้แก่ ผู้ครองเรือนคนใดคนหนึ่ง
ที่ชื่อว่า ปริพาชก ได้แก่ นักบวชชายคนใดคนหนึ่งผู้อยู่ในลัทธิปริพาชก ยก
เว้นภิกษุและสามเณร
ที่ชื่อว่า ปริพาชิกา ได้แก่ นักบวชหญิงคนใดคนหนึ่งผู้อยู่ในลัทธิปริพาชิกา
ยกเว้นภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี
ที่ชื่อว่า สมณจีวร พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผ้าที่ทำกัปปะแล้ว ภิกษุณี
ให้ผ้านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[919] 1. ภิกษุณีให้แก่มารดาบิดา
2. ภิกษุณีให้เป็นของยืม
3. ภิกษุณีวิกลจริต
4. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :205 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 3. นัคควรรค สิกขาบทที่ 9 นิทานวัตถุ
3. นัคควรรค

สิกขาบทที่ 9
ว่าด้วยการให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[920] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของภิกษุณี
ถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า ถ้าพวกเราสามารถ ก็จะ
ถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์” ครั้นภิกษุณีทั้งหลายจำพรรษาแล้วประชุมกันด้วยประสงค์
จะแจกจีวร ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย
โปรดรอก่อน ภิกษุณีสงฆ์มีความหวังในจีวร”
ภิกษุณีทั้งหลายได้กล่าวกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า เชิญท่านไป
สืบดูจีวรนั้นให้รู้เรื่อง”
ภิกษุณีถุลลนันทาเข้าไปถึงตระกูลนั้น ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับคนเหล่านั้นดังนี้
ว่า “ท่านทั้งหลายจงถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์”
คนเหล่านั้นกล่าวว่า “พวกเรายังไม่สามารถที่จะถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์”
ภิกษุณีถุลลนันทานำเรื่องนั้นไปบอกให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงให้
ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล1ด้วยความหวังในจีวรที่เลื่อนลอย2เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
1 สมัยแห่งจีวรกาล คือในเมื่อไม่ได้กรานกฐินนับเอาตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12
รวมเวลา 1 เดือน ในเมื่อได้กรานกฐินแล้ว นับเอาตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
รวมเวลา 5 เดือน ระยะเวลาในช่วงนี้เรียกว่า สมัยแห่งจีวรกาล
2 “ความหวังในจีวรที่เลื่อนลอย” หมายถึงความหวังที่ภิกษุณีตั้งไว้เพราะได้ฟังเพียงคำของทายกว่า “ถ้า
สามารถก็จะถวาย” เป็นความหวังที่เลื่อนลอย ไม่แน่นอน (กงฺขา.อ. 378)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :206 }