เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 2. อันธการวรรค สิกขาบทที่ 8 อนาปัตติวาร
ทุกกฏ
ภิกษุณีให้อนุปสัมบันโพนทะนา ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[873] 1. ภิกษุณีวิกลจริต
2. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :178 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 2. อันธการวรรค สิกขาบทที่ 9 นิทานวัตถุ
2. อันธการวรรค

สิกขาบทที่ 9
ว่าด้วยการสาปแช่งตนเองและผู้อื่น

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[874] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายไม่เห็นสิ่งของของ
ตนได้กล่าวกับภิกษุณีจัณฑกาลีดังนี้ว่า “แม่เจ้า ท่านเห็นสิ่งของของพวกเราบ้างไหม”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ดิฉันนี่แหละที่เป็นขโมย
ดิฉันนี่แหละไม่มีความละอาย พวกแม่เจ้าที่ไม่เห็นสิ่งของของตนต่างพากันกล่าวกับ
ดิฉันอย่างนี้ว่า ‘เห็นสิ่งของของพวกเราบ้างไหม’ แม่เจ้า ถ้าดิฉันเอาสิ่งของของ
พวกท่านไป ดิฉันก็จงเป็นผู้ไม่ใช่สมณะหญิง จงเคลื่อนจากพรหมจรรย์ จงบังเกิดใน
นรก ส่วนผู้ที่กล่าวหาดิฉันด้วยเรื่องที่ไม่จริงก็จงไม่เป็นสมณะหญิง จงเคลื่อนจาก
พรหมจรรย์ จงบังเกิดในนรก”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าจัณฑกาลีจึงสาปแช่งตนเองบ้าง ผู้อื่นบ้าง ด้วยนรกบ้าง ด้วยพรหมจรรย์1 บ้าง
เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุ
ได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีจัณฑกาลีสาปแช่งตนเอง

เชิงอรรถ :
1 สาปแช่งด้วยนรกด้วยพรหมจรรย์ในที่นี้ คือด่าโดยนัยเป็นต้นว่า ขอให้ดิฉันจงบังเกิดในนรกอเวจี หรือ
ขอให้ผู้อื่นจงบังเกิดในนรกอเวจี ขอให้ดิฉันเป็นคฤหัสถ์ กลับไปนุ่งผ้าขาว เป็นปริพาชิกา หรือขอให้ผู้อื่น
จงเป็นอย่างที่ดิฉันเป็นนี้ คือสาปแช่งตนและผู้อื่นให้ตกนรก สาปแช่งตนและผู้อื่นให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์
(วิ.อ. 2/875/498)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :179 }