เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 2. อันธการวรรค สิกขาบทที่ 4 สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[851] ก็ภิกษุณีใดยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากัน หรือพูดกระซิบข้างหู
สองต่อสองกับชายในถนน หรือตรอกตัน หรือทางสามแพร่ง หรือส่งภิกษุณีผู้
เป็นเพื่อนกลับไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[852] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ถนน ได้แก่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงทางเดิน
ที่ชื่อว่า ตรอกตัน ได้แก่ คนเข้าไปทางใดต้องเดินออกทางนั้น
ที่ชื่อว่า ทางสามแพร่ง ได้แก่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงทางแยก
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ แต่เป็นมนุษย์ผู้ชายที่รู้เดียงสา สามารถยืนร่วมกัน สนทนากันได้
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า สองต่อสอง คือ ชาย และภิกษุณี
คำว่า ยืนเคียงคู่กัน คือ ยืนอยู่ในระยะช่วงแขนชาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า หรือสนทนากัน คือ สนทนากันอยู่ในระยะช่วงแขนชาย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
คำว่า หรือพูดกระซิบข้างหู คือ บอกเนื้อความใกล้หูชาย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :165 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 2. อันธการวรรค สิกขาบทที่ 4 อนาปัตติวาร
คำว่า หรือส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับไป คือ ประสงค์จะประพฤติไม่สมควร
จึงส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนพ้น
ระยะที่จะมองเห็น หรือระยะที่จะได้ยิน ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อภิกษุณีผู้เป็นเพื่อน
พ้นไปแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันกับชายพ้นระยะช่วงแขน ต้องอาบัติทุกกฏ
ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันกับยักษ์ เปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ที่มีร่างคล้ายมนุษย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[853] 1. ภิกษุณีมีสตรีคนใดคนหนึ่งที่รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน
2. ภิกษุณีผู้ไม่ประสงค์ที่จะอยู่ในที่ลับยืนเคียงคู่กันหรือสนทนากัน
3. ภิกษุณีที่ยืนเคียงคู่กันหรือสนทนากันแต่คิดในเรื่องอื่น
4. ภิกษุณีส่งเพื่อนภิกษุณีกลับเมื่อมีเหตุจำเป็น
5. ภิกษุณีวิกลจริต
6. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ 4 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :166 }