เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 1.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ 9 นิทานวัตถุ
1. ลสุณวรรค

สิกขาบทที่ 9
ว่าด้วยการทิ้งอุจจาระเป็นต้นภายนอกกำแพง

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[828] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งมีนาข้าวเหนียว
แปลงหนึ่งอยู่ติดกับสำนักภิกษุณี พวกภิกษุณีเทอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง หยาก
เยื่อบ้าง ของเป็นเดนบ้าง ทิ้งลงในนาข้าวเหนียว(ของพราหมณ์นั้น) พราหมณ์ตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงทำนาข้าวเหนียวของเราให้เสียหายเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพราหมณ์นั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีเท
อุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง หยากเยื่อบ้าง ของเป็นเดนบ้าง ลงบนของเขียวเล่า”
ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีเทอุจจาระบ้าง
ปัสสาวะบ้าง หยากเยื่อบ้าง ของเป็นเดนบ้าง ลงบนของเขียว จริงหรือ” ภิกษุ
ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงเทอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง หยากเยื่อบ้าง
ของเป็นเดนบ้าง ลงบนของเขียว ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :149 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 1.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ 9 สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[829] ก็ภิกษุณีใดเทหรือใช้ให้เทอุจจาระหรือปัสสาวะ หยากเยื่อหรือ
ของเป็นเดนลงบนของเขียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[830] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อ อุจจาระ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงคูถ
ที่ชื่อว่า ปัสสาวะ ตรัสหมายถึงมูตร
ที่ชื่อว่า หยากเยื่อ ตรัสหมายถึงขยะมูลฝอย
ที่ชื่อว่า ของเป็นเดน ตรัสหมายถึงอามิสที่เป็นเดน กระดูกเป็นเดน หรือ
น้ำเป็นเดน
ที่ชื่อว่า ของเขียว ได้แก่ บุพพัณชาติ อปรัณชาติ1ที่เขาปลูกไว้สำหรับ
อุปโภคบริโภค
คำว่า เท คือ เทเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้เท คือ ใช้ผู้อื่นให้เท ต้องอาบัติทุกกฏ ผู้รับคำสั่งครั้งเดียวแต่
เทหลายครั้ง ภิกษุณีผู้สั่งต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
1 บุพพัณชาติ อปรัณชาติ ดูข้อ 822-823 หน้า 144-145 (เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :150 }