เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 3 นิทานวัตถุ
ปาราชิกสิกขาบทที่ 3
ว่าด้วยการประพฤติตามภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[668] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาประพฤติตาม
พระอริฏฐะ1ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรม
แล้ว บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงประพฤติตามพระอริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่
สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้
ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาประพฤติตาม
ภิกษุชื่ออริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนีย
กรรมจริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงประพฤติตามภิกษุชื่อ
อริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมเล่า
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสหรือทำคน
ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “ประพฤิตามพระอริฏฐะ” ในที่นี้หมายถึงประพฤติในทำนองเดียวกัน ประพฤติเลียนแบบ คือ
พระอริฏฐะมีทิฏฐิบาปเกิดขึ้นในใจว่า “ตัวเองรู้ธรรมถึงขนาดที่ว่า ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เป็นธรรมทำอันตรายก็หาสามารถทำอันตรายได้จริงไม่...” ภิกษุณีถุลลนันทาก็มีทิฏฐิเช่นนั้นเหมือนกัน (ดู
วินัยปิฎกแปล เล่ม 2/417/525)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :14 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 3 สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[669] ก็ภิกษุณีใดประพฤติตามภิกษุผู้ถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนีย
กรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์นั้น ผู้ไม่เอื้อเฟื้อ สงฆ์ยังไม่รับรอง
ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย1 ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลาย
พึงว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ภิกษุนั่นถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันลง
อุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์2 เป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ สงฆ์ยัง
ไม่รับรอง ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย แม่เจ้าอย่าประพฤติ
ตามภิกษุนั่น” ภิกษุณีนั้นผู้อันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่
อย่างนั้น ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ 3 ครั้งเพื่อให้
สละเรื่องนั้น ถ้านางกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ 3 ครั้งสละเรื่องนั้นได้
นั่นเป็นการดี ถ้านางไม่สละ แม้ภิกษุณีนี้ก็เป็นปาราชิกชื่ออุกขิตตานุวัตติกา3
หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[670] คำว่า ก็ ... ใด คือผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

เชิงอรรถ :
1 สมานสํวาสกา ภิกฺขู สหายา นาม, ยสฺส ปน โส สํวาโส เตหิ สทฺธึ นตฺถิ น เตน เต สหายา
กตา โหนฺติ, อิติ โส อกตสหาโย นาม. ภิกษุทั้งหลายผู้มีสังวาสเสมอกันชื่อว่า สหาย ก็ภิกษุใดไม่มี
สังวาสนั้นกับสหายเหล่านั้น (และ)ภิกษุนั้นไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันนั้นให้เป็นสหายของตน
เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่า ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย (กงฺขา.อ. 344)
2 “โดยธรรม” คือเรื่องจริง,โดยเรื่องที่เป็นจริง “โดยวินัย” คือโจทแล้วให้จำเลยให้การ “โดยสัตถุศาสน์” คือ
ด้วยความถึงพร้อมแห่งญัตติและอนุสาวนาหรือโดยศาสนาของพระพุทธเจ้า (วิ.อ. 2/669-670/466)
3 คำว่า “อุกขิตตานุวัตติกา” แปลว่า ประพฤติตามผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ถูกสงฆ์ลงโทษโดยการไล่ออกจากหมู่
หมายถึงถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมนั่นเอง คำนี้เป็นชื่อเรียกภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิกสิกขาบทนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :15 }