เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 2 อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[667] 1. ภิกษุณีไม่บอกด้วยคิดว่า “สงฆ์จักบาดหมาง ทะเลาะ ข้ดแย้ง
หรือวิวาทกัน”
2. ภิกษุณีไม่บอกด้วยคิดว่า “สงฆ์จักแตกแยก จักร้าวราน”
3. ภิกษุณีไม่บอกด้วยคิดว่า “ภิกษุณีนี้เป็นคนหยาบช้า ดุร้าย จัก
ทำอันตรายแก่ชีวิตหรืออันตรายแก่พรหมจรรย์ได้”
4. ภิกษุณีไม่บอกเพราะไม่พบภิกษุณีอื่น ๆ ที่สมควร
5. ภิกษุณีไม่ประสงค์จะปกปิดแต่ยังไม่ได้บอกใคร
6. ภิกษุณีไม่บอกด้วยคิดว่า “ผู้นั้นจักเปิดเผยเพราะกรรมของตนเอง”
7. ภิกษุณีวิกลจริต
8. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

ปาราชิกสิกขาบทที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :13 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 3 นิทานวัตถุ
ปาราชิกสิกขาบทที่ 3
ว่าด้วยการประพฤติตามภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[668] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาประพฤติตาม
พระอริฏฐะ1ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรม
แล้ว บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงประพฤติตามพระอริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่
สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้
ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาประพฤติตาม
ภิกษุชื่ออริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนีย
กรรมจริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงประพฤติตามภิกษุชื่อ
อริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมเล่า
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสหรือทำคน
ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “ประพฤิตามพระอริฏฐะ” ในที่นี้หมายถึงประพฤติในทำนองเดียวกัน ประพฤติเลียนแบบ คือ
พระอริฏฐะมีทิฏฐิบาปเกิดขึ้นในใจว่า “ตัวเองรู้ธรรมถึงขนาดที่ว่า ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เป็นธรรมทำอันตรายก็หาสามารถทำอันตรายได้จริงไม่...” ภิกษุณีถุลลนันทาก็มีทิฏฐิเช่นนั้นเหมือนกัน (ดู
วินัยปิฎกแปล เล่ม 2/417/525)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :14 }