เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [3. นิสสัคคิยกัณฑ์] 1. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 11 สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาออกปากทูล
ขอผ้ากัมพลจากพระราชา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงออกปากทูลขอผ้ากัมพลจากพระราชาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิ
ได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[784] ก็ภิกษุณีเมื่อจะขอผ้าห่มหนา พึงขอได้เพียงราคา 4 กังสะ1 เป็น
อย่างมาก ถ้าขอเกินกว่านั้น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์2
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[785] ที่ชื่อว่า ผ้าห่มหนา ได้แก่ ผ้าห่มชนิดหนึ่งที่ใช้ห่มในฤดูหนาว3
คำว่า เมื่อจะขอ คือ เมื่อจะออกปากขอ
คำว่า พึงขอได้เพียงราคา 4 กังสะ คือ พึงขอผ้าที่มีราคา 16 กหาปณะได้
คำว่า ถ้าขอเกินกว่านั้น ความว่า ภิกษุณีออกปากขอผ้าราคาเกินกว่านั้น
ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ขอ ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือ เป็นของจำต้อง
สละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่ภิกษุณีรูปเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

เชิงอรรถ :
1 1 กังสะ เท่ากับ 4 กหาปณะ, 4 กังสะ จึงเท่ากับ (4x4) 16 กหาปณะ (กงฺขา.อ. 362)
2 หมายความว่า ภิกษุณีขอจากคนอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ แต่ถ้าขอจากสหธรรมิก ญาติและ
คนปวารณา แม้จะราคาเกิน 4 กังสะ ก็ไม่ต้องอาบัติ (กงฺขา.อ. 362)
3 หมายถึงผ้าห่มเนื้อหนาสำหรับห่มในฤดูหนาว (สีตกาเล หิ มนุสฺสา ถูลปาวุรณํ ปารุปนฺติ -ปาจิตฺยาทิ-
โยชนา 784/158 ม.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :119 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [3. นิสสัคคิยกัณฑ์] 1. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 11 บทภาชนีย์
วิธีสละผ้าห่มที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ผ้าห่ม
หนาผืนนี้ราคาเกิน 4 กังสะดิฉันขอมา เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉันขอสละผ้าห่มหนาผืนนี้
แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนผ้าห่มหนาที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรม
วาจาว่า “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้าห่มหนาผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้ เป็นนิสสัคคีย์
เธอสละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนผ้าห่มหนาผืนนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย
ฯลฯ ดิฉันขอสละผ้าห่มหนาผืนนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
“ฯลฯ พึงคืนผ้าห่มหนาผืนนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ฯลฯ ดิฉันขอสละผ้าห่มหนา
ผืนนี้แก่แม่เจ้า” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ฯลฯ “ดิฉันคืนผ้าห่มหนาผืนนี้ให้แก่แม่เจ้า”

บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[786] ผ้าห่มหนาราคาเกิน 4 กังสะ ภิกษุณีสำคัญว่าเกิน ขอ ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :120 }