เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 2 สิกขาบทวิภังค์
ไม่ทักท้วงภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือปาราชิกด้วยตนเอง ไม่บอกแก่คณะ จริงหรือ” ภิกษุ
ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทารู้อยู่จึงไม่ทักท้วงภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือ
ปาราชิกด้วยตนเอง ไม่บอกแก่คณะเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[665] ก็ภิกษุณีใดรู้อยู่ไม่ทักท้วงภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือปาราชิกด้วยตนเอง
ไม่บอกแก่คณะ ก็ในกาลใดภิกษุณีนั้นยังครองเพศอยู่ก็ดี เคลื่อนไปก็ดี ถูก
นาสนะก็ดี ไปเข้ารีตก็ดี ภายหลังภิกษุณีผู้รู้เรื่องนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
เมื่อก่อนดิฉันรู้จักภิกษุณีนี้ดีว่า ‘นางมีความประพฤติอย่างนี้ ๆ แต่ดิฉันไม่ได้
โจทด้วยตนเอง ไม่ได้บอกแก่คณะ’ แม้ภิกษุณีนี้เป็นปาราชิกที่ชื่อว่าวัชช-
ปฏิจฉาทิกา1 หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[666] คำว่า ก็ ... ใด คือผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “วัชชปฏิจฉาทิกา” แปลว่า ปกปิดโทษ, ปกปิดความผิด เป็นชื่อเรียกภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิก
สิกขาบทนี้ (วิ.อ. 2/665/465)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :11 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 2 สิกขาบทวิภังค์
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุณีนั้นรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกเธอ หรือภิกษุณีที่ต้อง
อาบัตินั้นบอก
คำว่า ต้องธรรมคือปาราชิก คือ ต้องอาบัติปาราชิก 8 ข้อใดข้อหนึ่ง
คำว่า ไม่โจทด้วยตนเอง คือ ไม่ทักท้วงเอง
คำว่า ไม่บอกแก่คณะ หมายถึง ไม่บอกภิกษุณีอื่น ๆ
คำว่า ก็ในกาลใดภิกษุณีนั้นยังครองเพศอยู่ก็ดี เคลื่อนไปก็ดี เป็นต้น
อธิบายว่า ที่ชื่อว่า ครองเพศอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงภิกษุณีผู้ดำรงอยู่
ในเพศของตน ที่ชื่อว่า เคลื่อนไป ตรัสหมายถึงภิกษุณีผู้มรณภาพ ที่ชื่อว่า ถูก
นาสนะ ตรัสหมายถึงภิกษุณีผู้สึกเองหรือถูกผู้อื่นให้สึก ที่ชื่อว่า เข้ารีต ตรัสหมาย
ถึงภิกษุณีผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ภายหลังภิกษุณีผู้รู้เรื่องนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
เมื่อก่อนดิฉันรู้จักภิกษุณีนี้ดีว่า ‘นางมีความประพฤติอย่างนี้ ๆ”
คำว่า แต่ดิฉันไม่ได้โจทด้วยตนเอง คือ แต่ดิฉันไม่ได้ทักท้วงด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ได้บอกแก่คณะ คือ ดิฉันไม่บอกภิกษุณีเหล่าอื่น
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุณีรู้อยู่ว่าพอทอดธุระว่า “เราจะไม่ทักท้วง
ภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือปาราชิกต้วยตนเอง จะไม่บอกแก่หมู่คณะ” เธอย่อมไม่เป็น
สมณะหญิง ไม่เป็นเชื้อสายศากยธิดา เปรียบเหมือนใบไม้เหี่ยวเหลืองหลุดจากขั้ว
แล้วไม่อาจเป็นของเขียวสดต่อไปได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็น
ปาราชิก
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าสังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับ
ภิกษุณีรูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :12 }