เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 6.เอฬกโลมสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่าเธอนำขนเจียมมาไกลเกิน 3 โยชน์ จริงหรือ”
ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงนำขนเจียมมาไกลเกิน 3 โยชน์เล่า โมฆบุรุษ การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[572] ก็ ขนเจียมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ภิกษุต้องการก็พึงรับได้
ครั้นรับแล้ว เมื่อไม่มีคนนำไปให้ พึงนำไปเองตลอดระยะ 3 โยชน์เป็นอย่าง
มาก ถ้าเมื่อไม่มีคนนำไปให้ นำไปไกลกว่านั้น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่งรับขนเจียมระหว่างทาง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[573] คำว่า ก็...แก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ได้แก่ ภิกษุผู้เดินทาง
คำว่า ขนเจียมเกิดขึ้น คือ เกิดจากสงฆ์ จากคณะ จากญาติ จากมิตร
หรือที่เป็นของบังสุกุล หรือที่ได้มาด้วยทรัพย์ของตน
คำว่า ต้องการ คือ เมื่อต้องการก็รับไว้ได้
คำว่า ครั้นรับแล้ว... พึงนำไปเองตลอดระยะ 3 โยชน์เป็นอย่างมาก คือ
นำไปเองได้ 3 โยชน์
คำว่า เมื่อไม่มีคนนำไปให้ ความว่า ไม่มีคนอื่น คือ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์
หรือบรรพชิต คอยช่วยนำไป
คำว่า ถ้าเมื่อไม่มีคนนำไปให้ นำไปไกลกว่านั้น อธิบายว่า ภิกษุย่างเท้าที่ 1
ผ่าน 3 โยชน์ไป ต้องอาบัติทุกกฏ ย่างเท้าที่ 2 ผ่านไป ขนเจียมทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :97 }