เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 6.เอฬกโลมสิกขาบท นิทานวัตถุ
2. โกสิยวรรค

6. เอฬกโลมสิกขาบท
ว่าด้วยการรับขนเจียม1

เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่งรับขนเจียมระหว่างทาง
[571] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปกรุงสาวัตถี
ในชนบทแคว้นโกศล ระหว่างทาง ขนเจียมเกิดขึ้น เธอจึงใช้อุตตราสงค์ห่อขนเจียมไป
พวกชาวบ้านเห็นท่านจึงพูดสัพยอกว่า “ท่านซื้อขนเจียมมาราคาเท่าไร จะ
ขายมีกำไรเท่าไร”
ท่านถูกชาวบ้านพูดสัพยอกจึงเก้อเขิน ครั้นถึงกรุงสาวัตถี ได้โยนขนเจียม
เหล่านั้นทิ้งไป ทั้งที่ยืนอยู่นั่นแหละ
ภิกษุทั้งหลายกล่าวกับท่านอย่างนี้ว่า “ทำไมท่านจึงโยนขนเจียมเหล่านั้นทิ้ง
ทั้งที่ยืนอยู่เล่า”
ท่านตอบว่า “จริงอย่างนั้น ท่านทั้งหลาย กระผมถูกพวกชาวบ้านพูดสัพยอก
เพราะขนเจียมเหล่านี้”
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านนำขนเจียมเหล่านี้มาไกลเท่าไร”
ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “เกิน 3 โยชน์ ขอรับ”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
จึงนำขนเจียมมาไกลเกิน 3 โยชน์เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุรูปนั้นโดย
ประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
1 ขนเจียม คือ เอฬกโลม ขนแกะ ขนแพะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :96 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 6.เอฬกโลมสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่าเธอนำขนเจียมมาไกลเกิน 3 โยชน์ จริงหรือ”
ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงนำขนเจียมมาไกลเกิน 3 โยชน์เล่า โมฆบุรุษ การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[572] ก็ ขนเจียมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ภิกษุต้องการก็พึงรับได้
ครั้นรับแล้ว เมื่อไม่มีคนนำไปให้ พึงนำไปเองตลอดระยะ 3 โยชน์เป็นอย่าง
มาก ถ้าเมื่อไม่มีคนนำไปให้ นำไปไกลกว่านั้น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่งรับขนเจียมระหว่างทาง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[573] คำว่า ก็...แก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ได้แก่ ภิกษุผู้เดินทาง
คำว่า ขนเจียมเกิดขึ้น คือ เกิดจากสงฆ์ จากคณะ จากญาติ จากมิตร
หรือที่เป็นของบังสุกุล หรือที่ได้มาด้วยทรัพย์ของตน
คำว่า ต้องการ คือ เมื่อต้องการก็รับไว้ได้
คำว่า ครั้นรับแล้ว... พึงนำไปเองตลอดระยะ 3 โยชน์เป็นอย่างมาก คือ
นำไปเองได้ 3 โยชน์
คำว่า เมื่อไม่มีคนนำไปให้ ความว่า ไม่มีคนอื่น คือ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์
หรือบรรพชิต คอยช่วยนำไป
คำว่า ถ้าเมื่อไม่มีคนนำไปให้ นำไปไกลกว่านั้น อธิบายว่า ภิกษุย่างเท้าที่ 1
ผ่าน 3 โยชน์ไป ต้องอาบัติทุกกฏ ย่างเท้าที่ 2 ผ่านไป ขนเจียมทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :97 }