เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 5.นิสีทนสันถตสิกขาบท นิทานวัตถุ
ภิกษุทั้งหลายพอทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ถืออยู่
ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เข้าเฝ้าได้ตามสะดวก”
จึงปรารถนาเข้าเฝ้า ได้ละทิ้งสันถัตพากันสมาทานอารัญญิกธุดงค์ ปิณฑปาติกธุดงค์
และบังสุกูลิกธุดงค์1
ต่อมา พระผู้มีพระภาคพร้อมภิกษุจำนวนมากเสด็จประพาสตามเสนาสนะ
ทอดพระเนตรเห็นสันถัตถูกทอดทิ้งไว้ในที่นั้น ๆ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย สันถัตที่ถูกทอดทิ้งไว้ในที่นั้น ๆ เป็นของใคร” ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูล
เรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุ
ทั้งหลายโดยอาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือ
1. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
2. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
3. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
4. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
5. เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
6. เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต
7. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
8. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว
9. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม
10. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
1 “อารัญญิกธุดงค์” คือข้อปฏิบัติขัดเกลากิเลสของผู้ถืออยู่ในป่า ห่างจากหมู่บ้านอย่างน้อย 500 ชั่วธนู
คือประมาณ 25 เส้น (ดูข้อ 654 หน้า 174) “บิณฑปาติกธุดงค์” ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ไม่รับนิมนต์
“ปังสุกุลิกธุดงค์” ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ไม่รับถวายจีวร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :92 }